พลิกโฉม การแพทย์วิถีใหม่ รับ New Normal หลังวิกฤติโควิด-19
การแพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่าง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่อง "การแพทย์วิถีใหม่" ทั้งการผ่าตัด ทันตกรรม ห้องฉุกเฉิน และการดูแลผู้ป่วย NCDs
“การแพทย์วิถีใหม่” (New Normal of Medical Service) ของกระทรวงสาธารณสุข เกิดจากการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ จากการต่อสู้กับโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 6 เดือน จนมาถึงวันนี้ (24 มิถุนายน) ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ครบ 30 วัน นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน และการให้บริการระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัย พร้อมรับมือกับการเกิดภาวะฉุกเฉินได้ในอนาคต
เป้าหมายของ การแพทย์วิถีใหม่ คือ “เกิดความปลอดภัย” ทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ โดยการจัดโครงสร้างระบบการทำงานและบุคลากร รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ป้องกันลดความเสี่ยง ถัดมา คือ “ลดความแออัด” โดยการจัดกลุ่มผู้ป่วยให้ชัดเจนและให้บริการที่เหมาะสม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว (เสี่ยงน้อย) ควบคุมอาการโรคได้ดี สามารถรับบริการส่งยาทางบ้านได้ กลุ่มสีเหลือง (เสี่ยงปานกลาง) ควบคุมได้ปานกลาง สามารถให้คำปรึกษาผ่านระบบแพทย์ทางไกล และพยายามปรับให้อยู่ในกลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีแดง (เสี่ยงสูง) ควบคุมไม่ดี ต้องพบแพทย์ที่รพ. ซึ่งแพทย์จะสามารถใช้เวลาให้คำปรึกษาได้มากขึ้น และสุดท้าย คือ “ลดความเหลื่อมล้ำ” เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน มีระบบจัดการข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศเพื่อนำมาวิเคราะห์แก้ปัญหา
โดยทิศทางการดำเนินงานของ New Normal “สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เป็นการปรับเปลี่ยนการบริการทางการแพทย์จากเดิมที่มุ่งเน้นมารับการรักษาที่โรงพยาบาล สู่การบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการรักษาให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล โดยการออกแบบการบริการรูปแบบใหม่ โดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการ
“สิ่งที่ประชาชนจะได้รับ คือ 1. มีมาตรการการรักษาที่ดีขึ้นและปลอดภัยสูงสุด 2 มีรูปแบบบริการที่เหมาะสม ตรงกับปัญหาของรายบุคคล ส่งผลให้ได้รับความสะดวกและคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น 3. ยกระดับคุณภาพชีวิตทำให้สุขภาพแข็งแรง ประชาชนแข็งแรง และประเทศไทยแข็งแรงตามไปด้วย” รมช.สธ. กล่าว
“จังหวัดปัตตานี” ประกอบด้วย 12 อำเภอ 115 ตำบล 642 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 719,664 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมา คือ พุทธ และคริสต์ ถูกเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่อง ขับเคลื่อนการแพทย์วิถีใหม่ เนื่องจากเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีด่านข้ามแดนจังหวัด โดยผู้ป่วยรายแรกที่พบ คือ ผู้ที่กลับมาจากการร่วมกิจกรรมชุมชนทางศาสนา (ดาวะห์) ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 รวมพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 91 ราย (อาการไม่รุนแรง 83 ราย อาการปานกลาง 5 ราย และอาการรุนแรง 2 ราย) เสียชีวิต 1 ราย ขณะนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง 64 วัน
ทำให้ที่ผ่านมา จ.ปัตตานี ต้องมีการบริหารจัดการ รับมือ ค้นหากลุ่มเสี่ยง และป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเป็นระบบ โดยการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 รวมถึงจัดตั้งด่านคัดกรองบริเวณด่านข้ามเขตจังหวัด โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน และจัดตั้ง Local Quarantine จำนวน 176 แห่ง ในทุกอำเภอ รองรับได้ 4,800 คน พร้อมกับค้นหากลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว และจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยนโยบายสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้ประชาชน ป้องกันควบคุมการระบาด รักษาผู้ป่วยตามมาตรฐาน ลดผลกระทบของผู้ประกอบการในพื้นที่ และทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน
“นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า การแพทย์วิถีใหม่ กรมการแพทย์ได้เริ่มดำเนินการนำร่อง “ปัตตานีโมเดล” ในบริการ 4 ด้าน คือ “ห้องทันตกรรม” เป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนระบบระบายอากาศในห้องทำฟัน แต่การเปลี่ยนโครงสร้างตึกค่อนข้างยาก เบื้องต้นจึงใช้เทคนิคการทำฟันแบบใหม่เข้ามาเพื่อลดการกระจายของละอองฝอยที่เกิดจากการทำฟัน เช่น การให้มีผู้ช่วยแพทย์ในการดูดน้ำลาย ใช้แผ่นยางกันน้ำลาย (Rubber Dam) ในทุกการทำฟัน และใช้หัวดูดน้ำลายกำลังสูง (High Power Suction) ร่วมหากเกิดละอองฝอย
“ห้องฉุกเฉิน” จะมีการคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น หากมีการทำหัตถการที่เสี่ยงจะต้องกั้นเป็นห้องความดันลบเพื่อไม่ให้ปะปนผู้ป่วยคนอื่นๆ พร้อมกับเตรียมเครื่องป้องกัน ชุด PPE / PAPR มีการใช้เครื่องกู้ชีพอัตโนมัติ และอบรมการกู้ชีพในห้องฉุกเฉิน เพิ่มเติม
“ห้องผ่าตัด” ซึ่งปกติเป็นห้องความดันบวก แต่หากมีผู้ป่วยโควิด-19 ต้องทำเป็นห้องความดันลบ ซึ่ง รพ.ปัตตานี อยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนเป็นห้องผ่าตัดความดันลบ ขณะที่ รพร. สายบุรี ใช้ผ้าพลาสติกกั้น ทำให้ระบบในห้องผ่าตัดเป็นความดันลบได้ และมีการดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ “ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ต้องลดความแออัด ลดการรอคอย โดยใช้เทเลเมดิซีน รวมถึงให้ อสม. มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแล และส่งยาทางไปรษณีย์
“ทั้ง 4 New Normal มีการดำเนินการไปแล้วต้นเดือนมิถุนายน โดยมีภาคีเครือข่าย ได้แก่ การสนับสนุนจาก WHO ติดตามประเมินผล โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และ สสส. ร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน โดยเฉพาะ NCDs และทันตกรรม” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ขณะนี้ การนำร่องพัฒนารูปแบบการแพทย์วิถีใหม่ทั้ง 4 ด้าน มีสถานพยาบาลเข้าร่วม ดังนี้
“ห้องผ่าตัด” (Operation Room) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ รพ.ปัตตานี และ รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี
“ทันตกรรม” (Dental) บริการทันตกรรม 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ปัตตานี , รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี , รพ.ชุมชนหนองจิก ยะหริ่ง กระพ้อ และปานาเระ และจะขยายไปอีก 6 แห่ง ครอบคลุมทั้งจังหวัด
“ห้องฉุกเฉิน” (Emergency Room) เริ่มที่ รพ.ปัตตานี , รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี และจะขยายไปที่ รพ.ชุมชนอีก 10 แห่งครอบคลุมทั้งจังหวัด
“โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (NCDs) ให้บริการผู้ป่วย 27 แห่ง ได้แก่ รพ.ปัตตานี รพ.ชุมชน 7 แห่ง และ รพ.สต. 19 แห่ง
ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวเสริมว่า แนวทางการแพทย์วิธีใหม่ ต้องคำนึงถึง 4 ข้อสำคัญ คือ 1. เรื่องภูมิศาสตร์ สังคม และอัตลักษณ์ของพื้นที่ 2. มาตรฐานของการให้บริการทั้งในโรงพยาบาล และการดูแลนอกสถานที่ โดยพี่น้อง อสม. ประชาน และภาคส่วนต่างเข้ามามีส่วนร่วม 3. การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ให้พร้อม รวมถึงอาคารสถานที่ และ 4. การบริหารจัดการ ระดมสมอง บูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
“โควิด-19 บอกเราว่า ไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพตัวเอง แต่ต้องดูแลสุขภาพทุกคน การมีส่วนร่วมที่ดีที่สุด คือ พี่น้องประชานต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ การนำร่องการแพทย์วิถีใหม่ เป็นการจุดประกายความร่วมมือในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เกิดการตื่นตัว ป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดมากขึ้น หากประชาชนสุขภาพดี สังคมก็จะมีคุณภาพที่ดี นำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้น” ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าวทิ้งท้าย