'กยศ.' แจงปมร้อนยึดบ้าน 2 ล้านขายทอดตลาด จ่ายหนี้ 1.7 หมื่นบาท
"กยศ." ออกโรงแจงปมร้อนยึดบ้าน 2 ล้านขายทอดตลาด เพื่อจ่ายหนี้ 1.7 หมื่นบาท เหตุ "ผู้กู้ยืม" ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.63 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีที่มีพี่สาวของผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ ได้ร้องเรียนผ่านสื่อว่าถูกสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ โดยเป็นหนี้ กยศ. เพียง 17,000 กว่าบาท แต่กลับถูกบังคับคดียึดบ้านในราคา 2 ล้านกว่าบาท ไปขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้
ทั้งนี้ ผู้จัดการ กยศ. ระบุว่า กองทุนฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2551 และศาลได้มีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินต้น จำนวน 17,868 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดี จากการสืบทรัพย์พบทรัพย์สินของผู้กู้แต่ไม่สามารถยึดได้ เนื่องจากถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว กองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งที่ดินดังกล่าวติดจำนองเจ้าหนี้รายอื่นอยู่
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงต้นปี 2562 ผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้เพียงบางส่วน และไม่ได้ติดต่อกองทุนเพื่อทำบันทึกข้อตกลงงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมหรือ ผู้ค้ำประกันมาติดต่อก็สามารถของดการขายทรัพย์และผ่อนชำระหนี้ได้อีก 6 ปี ต่อมาสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ได้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยขายแบบติดจำนอง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมีบุคคลภายนอกซื้อได้ในราคา 30,000 บาท โดยการขายครั้งนี้เป็นการขายครั้งที่ 11 ซึ่งในการขายทุกครั้งที่ผ่านมาไม่มีผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันมาดูแลการขาย
กยศ. ขอชี้แจงว่าก่อนที่จะมีการบังคับคดี กองทุนฯ ได้พยายามที่จะติดต่อกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนการติดตามหนี้มาโดยตลอด จนในที่สุดกองทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายนี้ กองทุนก็ได้ประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ซื้อทรัพย์ยินดีขายทรัพย์คืนให้แก่ผู้ค้ำประกันในราคาซื้อ
"ฝากถึงผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกัน ที่ถูกบังคับคดีด้วยว่า ขอให้มาติดต่อที่ กยศ. เพื่อจะได้โอกาสในการผ่อนชำระได้อีกไม่เกิน 6 ปี และขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ขอให้ผู้ค้ำประกันตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย โดยขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้เป็นปกติเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้อง จนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดาและญาติๆ และกองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านตระหนักถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด