สศช.เคาะงบฟื้นฟูรอบแรก 1 แสนล้าน หนุนเศรษฐกิจฐานราก-ท่องเที่ยว

สศช.เคาะงบฟื้นฟูรอบแรก 1 แสนล้าน หนุนเศรษฐกิจฐานราก-ท่องเที่ยว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบฟื้นฟูรอบแรก 1 แสน้ลานบาท คาดเสนอ ครม.เคาะ 7-8 หมื่นล้านบาท

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 5-24 มิ.ย.2563 มีหน่วยงานราชการและส่วนจัังหวัดเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณา 46,429 โครงการ วงเงินรวม 1.45 ล้านล้านบาท และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอระหว่างวันที่ 22 - 25 มิ.ย.2563 รวม 213 โครงการ วงเงิน 101,482 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ต่อไปจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง และปรับลดวงเงินของสำนักงบประมาณที่จะปรับลดลงตามยอดการใช้จ่ายที่แท้จริง (Unit Cost) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงินประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการที่พิจารณาตามข้อเสนอของกลุ่มจังหวัด 924.3 ล้านบาทโดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วย

นอกจากนี้ โครงการที่ผ่านการกลั่นกรองในรอบแรก 213 โครงการ ตอบเป้าหมายที่วางไว้ 3 ประการ ได้แก่ 

1.โครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและโครงสร้างพื้นฐาน  ประกอบด้วย

1.โครงการที่สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากเช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบโคกหนองนาโมเดล 4,953ล้านบาท,โครงการใช้เก็บข้อมูล Big data โดยจ้างนักศึกษาจบใหม่ระยะเวลา 1 ปีลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนระดับตำบลทั่วประเทศ 2 คนต่อตำบล สร้างงานได้14,000 คน และโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชนความก้าวหน้าระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตร การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มรวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์

159317720517

2.เป้าหมายที่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มูลค่า 13,904 ล้านบาท คาดว่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293 ล้านบาท  โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900 ล้านบาท 

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ มูลค่า 1,264 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน 

โครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล (Innovative CBT for New Normal) มูลค่า 460 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกระจายรายได้สู่ชุมชน

3.เป้าหมายการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบด้วย โครงการ “เราไปเที่ยวกัน” โครงการ “เที่ยวปันสุข” และโครงการ “กำลังใจ” รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท 

ส่วนโครงการของกองทุนหมู่บ้านที่ขออนุมัติเข้ามาคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาจากกองทุนหมู่บ้านที่เสนอโครงการที่ชัดเจน เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านชุมชน ร้านค้าชุมชน การพัฒนาจุดขายด้านสมุนไพรเพื่อทำให้คนในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการกันวงเงินไว้ให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท โดยจัดสรรให้ในส่วนโครงการตามความต้องการของหมู่บ้าน 15,920 ล้านบาท และจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในล็อตแรกเช่นเดียวกัน

สำหรับโครงการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่จะเสนอขออนุมัติวงเงินสำหรับตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดขณะนี่้ยังรอโครงการที่จะเสนอมาจาก สสว.และกระทรวงการคลัง แต่แนวโน้มอาจอนุมัติวงเงินให้จากส่วนเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯที่เหลือวงเงินอยู่ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการเสนอโครงการจะพิจารณาอีกครั้ง 

ส่วนผลที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะช่วยดังนี้

1.การจ้างงาน ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย

2.สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล

3การท่องเที่ยว พัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด-19 กว่า 6 พื้นที่ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนากว่า 11,000 รายบริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 รายการเข้าพัก 5,000,000 ห้อง/คืนการเดินทาง 2,000,000 คน/ครั้ง รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.2 ล้านคน/ครั้ง

4.การเกษตร จะทำให้เกษตรกรเลี้ยงตนเอง 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ รวมทั้งยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง เกษตรกร 262,500 ราย และสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่

5.พื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำชุมชน พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 1.7 แสนไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

6.ดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสินค้า