'ฟิลิปปินส์' ยกเครื่อง 'กองทัพ' รับภัยคุกคาม
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา "ฟิลิปปินส์" เริ่มมีการเจรจากับหลายชาติเพื่อจัดหาอาวุธ ซึ่งอาจสร้างกระแสการสะสมอาวุธของอาเซียนให้เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหม่ เช่น อินเดีย และเกาหลีใต้ มีช่องทางขายสินค้าให้แก่ชาติอาเซียนมากขึ้นด้วย
"ฟิลิปปินส์" เป็นประเทศที่มีการสู้รบภายในประเทศสูง อันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติด การก่อการร้าย และการแบ่งแยกดินแดน การใช้กำลังของรัฐส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านอาชญากรรมและทำสงครามจรยุทธที่ใช้ยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีไม่สูงนัก ทำให้ฟิลิปปินส์ขาดการจัดหาอาวุธดีๆ แพงๆ มาใช้ในกองทัพเป็นเวลานาน
แต่หลังจากที่ความตึงเครียดในหมู่เกาะ Spratly ซึ่งรุนแรงขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ กอปรกับกองทัพฟิลิปปินส์เริ่มมีการลาดตระเวนร่วมไตรภาคีกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในทะเล Sulu และ Sulawesi ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องเพิ่มการจัดหาเรือและอากาศยานทันสมัยเข้าประจำการบ้าง ทำให้งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่จะประสบความสำเร็จหรือเปล่ากันนะ
แม้ว่าประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 30 มิ.ย.2559 จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับจีน และแสวงหาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น แต่การที่กองกำลังทางเรือของจีนละเมิดน่านน้ำทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกบ่อยครั้ง สร้างกระแสความไม่พอใจแก่ชาวฟิลิปปินส์ จนบางครั้งประธานาธิบดี Duterte ต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวเสียบ้าง เช่น ล่าสุดเมื่อ เม.ย.นี้เอง เขาถึงกับหลุดปากว่าอาจใช้กำลังกับจีน หากยังคงปล่อยให้เรือยามฝั่งและประมงล่วงล้ำน่านน้ำฟิลิปปินส์อีก
ขณะเดียวกันงบกลาโหมของฟิลิปปินส์ปีนี้ก็สูงถึง 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าปีกลาย 3% และถ้าพิจารณาถึงอัตราการเพิ่มขึ้นแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate-CAGR) จะพบว่างบประจำปีนี้สูงถึง 8.21% ซี่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพ แม้ว่าเงินครึ่งหนึ่งเป็นของกองทัพบก แต่อีกราว 1 ใน 4 เป็นของกองบัญชาการกองทัพ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในการพัฒนากองทัพภายใต้ พ.ร.บ.พัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัยภายใน 15 ปี (15-year AFP Modernization Act)
เวลานี้ ฟิลิปปินส์กำลังเจรจากับหลายชาติเพื่อจัดหาอาวุธ เช่น จัดหาเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถี 1 ลำจากเกาหลีใต้ เพิ่งขึ้นประจำการในเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ส่วนอีกลำคาดว่าจะได้ในเดือนกันยาฯ เรือ 2 ลำนี้เป็นเรือเอนกประสงค์ชั้น Jose Rizal (ตั้งชื่อตามวีรบุรุษผู้พยายามกู้เอกราชจากสเปนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน) สามารถทำการรบได้หลากหลายมิติ ระวางขับน้ำ 2,600 ตัน ความเร็วสูงสุด 25 น็อต และสามารถปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องไกลถึง 4,500 ไมล์ทะเล นับเป็นยุทโธปกรณ์ทางเรือที่มีขีดความสามารถสูงสุดในปัจจุบัน
ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการซื้อขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียง Brahmos 2 ชุดปฏิบัติการจากอินเดีย ซึ่งขึ้นประจำการใน ต.ค.นี้แล้ว นอกจากนั้น ประธานาธิบดี Duterte ยังทำข้อตกลงกับรัสเซียอีกหลายรายการ รวมทั้งสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ MI-17 อย่างน้อย 12 เครื่องจากรัสเซียอีกด้วย
คาดว่ากองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 48 ของโลก และเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน จากการจัดอันดับของสำนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง Global Fire Power น่าจะมีการขยับอันดับขึ้นในปีหน้า
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประธานาธิบดี Duterte ประกาศจะไม่ซื้ออาวุธจากสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดให้แก่ฟิลิปปินส์อีกต่อไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะ Duterte กับรัฐบาลวอชิงตันมีปัญหากันหลายเรื่อง พัวพันกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ นานาที่เกี่ยวข้องไปถึงการสั่งการของท่านประธานาธิบดีด้วย เมื่อปี 2559 นั้นสหรัฐก็ระงับการขายปืนเล็ก 20,000 กระบอกให้ตำรวจฟิลิปปินส์ โดยอ้างว่าฝ่ายความมั่นคงฟิลิปปินส์มีส่วนในการวิสามัญฆาตกรรมตามอำเภอใจในสงครามปราบปรามยาเสพติด
ว่าไปแล้ว การพัฒนากองทัพให้ทันสมัยของรัฐบาลมะนิลา น่าจะทำให้ฟิลิปปินส์มีขีดความสามารถสูงขึ้นในการรับมือกับศัตรูประเภทองค์กรอาชญากรรม เครือข่ายก่อการร้าย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยพวกมาเฟียขู่กรรโชกบนเกาะมินดาเนา กลุ่มโจร Abu Sayyaf และพวกสวามิภักดิ์ ISIS ที่หลบอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง หรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั้นก็คงไม่ได้มีอาวุธที่ดีไปกว่าฝ่ายความมั่นคงของฟิลิปปินส์ไปได้
แต่อาวุธระดับเรือฟริเกต ฮ.ติดอาวุธ หรือแม้แต่จรวดพิสัยกลางที่กล่าวมานั้น ก็ยังไม่น่าเพียงพอถึงขั้นแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกได้ เพราะคู่มือที่พวกเขาต้องเผชิญ คือ กองกำลังทางเรือจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอันดับ 3 ของโลก ถึงกระนั้นฟิลิปปินส์ก็คงไม่ยอมเป็นรองทางยุทธศาสตร์ง่ายๆ ล่าสุดก็พยายามปรับปรุงเกาะ Pagasa หรือ Thitu ซึ่งเป็นเกาะในหมู่เกาะ Spratly ที่ตนเองครอบครองให้ดูเหมือนพร้อมสำหรับยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่
การจัดหาอาวุธของฟิลิปปินส์อาจสร้างกระแสการสะสมอาวุธของอาเซียนให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับฟิลิปปินส์ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหม่ เช่น อินเดียหรือเกาหลีใต้มีช่องทางขายสินค้าเทคโนโลยีสูงแต่ราคาย่อมเยาว์ให้แก่ชาติอาเซียนมากขึ้น สำหรับไทย อาวุธเหล่านี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกตัวอย่างสำหรับการดำเนินการพัฒนากองทัพต่อไปด้วย