โควิด-19 ทำรายจ่ายเปิดเทอมหาย 1 หมื่นล้านบาท
ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจรายจ่ายเปิดเทอมกร่อยเงินสะพัดหาย 10,000 ล้านบาท ผลจากโควิด-19 ชี้ผู้ปกครองไม่มีทรัพย์สินเข้าโรงจำนำ-เชฟเงินกลัวตกงาน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯประเมินการใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมการศึกษาทั่วประเทศประจำปี 63 อยู่ที่ 40,000 -50,000 หมื่นล้านบาทลดลงจากปีก่อน 5,000-10,000 ล้านบาทเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อประคองสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัว เพราะผู้ปกครองหลายรายถูกลดเงินเดือน หลายรายสุ่มเสี่ยงต่อการตกงาน และหลายรายยังตกงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าการนำทรัพย์สินเช่น ทองคำ นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับต่างๆ เข้าโรงจำนำก็ไม่คึกคักเหมือนกับปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากผู้ปกครองต้องการประหยัดรายจ่ายในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับหลายรายไม่มีทรัพย์สินที่จะนำเข้าไปโรงจำนำแล้วเพราะมีการนำไปขายก่อนหน้านี้แล้วเพื่อนำไปใช้จ่ายในครอบครัวโดยเฉพาะทองคำที่มีราคาแพง เป็นต้น ขณะที่การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือการรูดบัตรเครดิตเป็นเงินสดก็ลดลงเช่นกัน เพราะผู้ปกครองหลายคนมีการใช้จ่ายเต็มวงเงินมาก่อนหน้านี้เช่นกัน
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ลดลงมากจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงกวดกวดวิชายังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่จากสถานการณ์ของโควิด-19 และการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกเหนือจากผลกระทบที่รายได้ผู้ปกครองลดลง ขณะเดียวกันยังพบว่าผู้ปกครองจำนวนมากเลื่อนระยะเวลาให้บุตรหลานเข้าไปเรียนระดับเตรียมอนุบาลออกไปอีก 1 ปี เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และที่สำคัญหลายโรงเรียนได้ลดค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บเด็กนักเรียนในด้านค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนแปลงโรงเรียนใหม่ (แป๊ะเจี๊ยะ) จากปกติในปีก่อนที่มีการเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะเฉลี่ยที่ 10,373 บาทต่อคน
“ขณะนี้ผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่มีความกังวลกับการใช้จ่าย กังวลเกี่ยวกับหนี้สิน และกังวลถึงสถานการณ์ในการทำงานว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากที่หลายบริษัทลดเงินเดือน ลดคน และเลิกกิจการจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดังนั้นในภาพรวมคาดว่าจะมีการใช้จ่ายลดลงเฉลี่ย 10-20%ซึ่งก็เป็นไปตามแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและหลายๆองค์กรได้มีการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีลง เป็นต้น”
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนของผลสำรวจประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมของปี 62 นั้นประเมินการใช้จ่ายทั่วประเทศ54,972ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เริ่มทำผลสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะผู้ปกครองซื้อสินค้าจำนวนชิ้นเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบุตรหลานด้านค่าเล่าเรียนผ่านบัตรคนจน ทำให้มีการนำเงินมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียนพิเศษแก่บุตรหลานเพิ่มโดยค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษพบว่า อนุบาลเฉลี่ยที่3,933บาทต่อคน ประถมศึกษา เฉลี่ย8,455บาทต่อคน มัธยมศึกษาตอนต้น13,358บาทต่อคน มัธยมศึกษาตอนปลาย11,566บาทต่อคน และมหาวิทยาลัย23,458บาทต่อคน โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เหตุผลว่าลูกเรียนในโรงเรียนไม่รู้เรื่อง,รองรับการแข่งขันและต้องการเกรดเฉลี่ยที่สูง เป็นต้น
ทั้งนี้รายจ่ายเฉลี่ยของปี62เป็นค่าเล่าเรียนและค่าหน่วยกิต เฉลี่ยคนละ16,468บาท ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ)2,331บาท ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนแปลงโรงเรียนใหม่หรือแป๊ะเจี๊ยะ เฉลี่ย10,373บาท ค่าหนังสือ1,904บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน638บาท ค่าเสื้อผ้า2,048บาท เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะสูงกว่าปีก่อนๆมาก โดยเฉพาะค่าแป๊ะเจี๊ยะ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และมีชื่อเสียง จึงยอมเพิ่มรายจ่ายเพื่อบุตรหลาน