'พิธา' อัดรัฐบาลไร้วิสัยทัศน์ 'จัดงบเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤติ' แทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว
หัวหน้าพรรคก้าวไกล อัดรัฐบาลไร้วิสัยทัศน์ "จัดงบเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤติ" แทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่สภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดอนาคตของพี่น้องชาวไทย ด้วยงบประมาณปี 2564 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้ว ยังต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยว่า เป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ “20 ล้านล้านบาท” ตั้งแต่บริหารประเทศมาจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน แต่น่าแปลกใจที่เงินมหาศาลนั้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมากเพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น
อย่างที่ตนเคยกล่าวไปว่า การแก้ไขปัญหาประเทศต่อจากนี้ ถ้าเราจะบริหารงบประมาณแบบเดิม แล้วคาดหวังว่า จะได้รับผลลัพธ์ใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าเราจะใส่เม็ดเงินลงไปมากเท่าใดก็ตาม น่าเสียดายที่งบประมาณปี 64 เป็นการ ”จัดงบประมาณเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤติ” ไม่ได้ต่างอะไรกับงบปี 63 มากหนัก สถานการณ์ประเทศ ณ ขณะนี้ เดือนมิถุนายนเป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศมาตราการรองรับใดๆ เดือนกรกฎาคมก็จะเป็นเดือนสุดท้ายที่พี่น้องเกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน รับเงิน 5,000 บาท ส่วนกลุ่มคนเปราะบางไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ กว่า 6.7 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาท เป็นเดือนสุดท้ายเช่นเดียวกัน
นายพิธา กล่าวถึงปัญหาของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ใช้ชีวิตกันอย่างไม่มีหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่ากระทรวงแรงงานนั้นน่าจะต้องเพิ่มขึ้นและมีโครงการที่จะช่วยเหลือให้พี่น้องนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ มีหลักประกันในชีวิต มีโครงข่ายทางสังคมรองรับ แต่ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องด้วยครับ งบประมาณของกระทรวงแรงงานถูกลดลง 3 พันล้านบาท และไม่มีแผนโครงการที่จะช่วยนำพี่น้องเข้าสู่ระบบ สำหรับพี่น้องที่กำลังจะตกงานและต้องหางานใหม่กว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ
ส่วนพี่น้องชาวภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่า ปัญหา PM 2.5 พร้อมกับปัญหาโควิดในช่วงที่ผ่านมา ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ ปีนี้งบประมาณแผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ส่วนงบของการแก้ไขปัญหาไฟป่านั้นเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท แต่ตัวชี้วัดไม่ได้เพิ่มขึ้นตามงบประมาณด้วย นั้นก็หมายความว่า มีโอกาสที่พี่น้องชาวภาคเหนือจะต้องทุกข์ทรมาณกับปัญหาเดิมๆ หรืออาจแย่กว่าเดิม
ด้านพี่น้องชาวอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งพร้อมกับปัญหาโควิด ถึงแม้งบประมาณปีนีกรมชลประทานจะได้งบประมาณมากขึ้นถึง 8,000 ล้าน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า งบประมาณนั้นจะสะท้อนความรุนแรงของปัญหาน้ำในประเทศ การร่วมศูนย์ของงบประมาณและการเน้นการเยียวยามากกว่าป้องกันปัญหา ไม่ต่างอะไรกับที่ผมได้อภิปรายไปเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ พี่น้องภาคใต้ที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด ประสบปัญหาราคายางตกต่ำเพราะส่งออกไม่ได้พร้อมกับปัญหาโควิด โดยสามัญสำนึกตนคิดว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะมีแผนการการประมาณการที่สะท้อนสถานการณ์จริง แต่กลับเป็นเช่นนั้นไม่ นี่เป็นตัวอย่างตัวอย่างแสดงให้เห็นว่างบประมาณปีนี้สร้างความหวังหรือทำให้คนสิ้นหวัง ประชาชนก็คงจะเป็นคนที่ตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี
“พี่น้องประชาชนที่เคยหวังพึ่งระบบ AI ของรัฐบาล และทุลักทุเลกับการขอเงินเยียวยา 5 พันบาท สามัญสำนึกก็บอกผมว่าน่าจะมีงบประมาณอะไรสักอย่างที่จะมาต่อยอดจาก “เราไม่ทิ้งกัน” ทำ Digital Wallet หรือ Smart ID Card ที่ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าเดิม ทั่วถึงกว่าเดิม รวดเร็วกว่าเดิม ถ้าเกิดเหตุที่ทำให้รัฐต้องปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ ไม่มีงบประมาณ โครงการ เหล่านี้อยู่ในงบปี 64 หรือถ้ามีก็ไม่รู้ว่าตัวชี้วัดคืออะไร"
ขณะที่ในส่วนของการกู้เงินให้เป็นนั้น รัฐบาลต้องบริหารให้เกิดความน่าเชื่อถือ สร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ และกู้มาสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถ้ารัฐบาลกู้มาคอร์รัปชั่นแบ่งเค้กกันเอง กู้แล้วประเทศก็ไม่เกิดรายได้ ประเทศก็ไม่น่าเชื่อถือดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพง แล้วยิ่งถ้ารัฐบาลหันมาปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างจนเกิดความไร้เสถียรภาพ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก ซึ่งผมอยากฝากไว้กับรัฐบาลว่าในกรณีที่ใช้เงินก็ไม่เป็น หาเงินก็ไม่เป็น วิกฤติครั้งนี้เราคาดหวังความช่วยเหลือจากต่างประเทศเหมือนในอดีตไม่ได้แล้วเพราะลำบากกันทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ในวิกฤติครั้งนี้เราหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างชาติไม่ง่ายอีกต่อไป เราต้องคิดเพื่อรองรับระเบียบโลกใหม่ตรงนี้ไว้ด้วยเช่นกัน
โดยสรุป งบประมาณที่ตนเเละพรรคก้าวไกลเห็นชอบ จะต้องสะท้อนว่ารัฐบาลใช้เงินเป็น หาเงินเป็น และกู้เป็นการใช้เงินเป็นรัฐบาลต้องเตรียมสวัสดิการโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอกับความเดือดร้อนของประชาชนในมหาวิกฤต และรัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตไม่ใช่แค่การตัดถนน 2 แสนล้าน การหาเงินให้เป็นนั้นรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้การคลังท้องถิ่นจัดเก็บรายได้และบริหารเงินได้เองมากขึ้น และต้องหารายได้จากภาษีให้มากขึ้นจากคนบนยอดปิระมิดของสังคม ไม่ใช่คนรากหญ้า
ทั้ง พิธา กล่าวทิ้งท้ายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 นั้น ตนได้อ่านดูแล้วเหมือนรัฐบาลเห็นว่าประเทศไม่มีวิกฤติ โลกปรับแล้ว แต่งบไทยยังไม่เปลี่ยน ประเทศเผชิญมหาวิกฤตรุมเร้าแต่รัฐบาลยังคงจัดกระเป๋าไปตามปกติ ผมจึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 64 ในวาระ1ได้