กกร.ปรับลดเป้าจีดีพี ปี 2563 ติดลบ 5-8%
กกร. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 คาดจีดีพี ร่วง-5% ถึง- 8% ส่งออก-7% ถึง-10% เงินเฟื้อ -1 ถึง-1.5%
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. และมิ.ย. 2563 แม้ภาครัฐทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน การส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิดในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ ทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก
โดยในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิดในบางประเทศที่ยังรุนแรง ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ แรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน และประเทศอื่นๆ ตลอดจนเงินบาทที่แข็งค่า อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ดังนั้น ที่ประชุม กกร. จึงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้า ขณะที่ล่าสุดทั้ง IMF และธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาที่ -7.7% และ -8.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีประเด็นท้าทายอยู่มากดังกล่าว ในการประชุมรอบนี้ กกร. จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาเป็น -5% ถึง -8% (จากเดิม -3% ถึง -5%) ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกมาเป็น –7% ถึง -10% (จากเดิม -5% ถึง -10%) และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.0% ถึง -1.5% (จากเดิม 0% ถึง -1.5%)
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาคในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการดำเนินนโยบายอัดฉีด QE ของสหรัฐ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องดูแลค่อเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาคนี้
ในส่วนของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และภาครัฐจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายๆ รอบ
“แม้ภาครัฐจะคลายล็อคระยะที่ 5 แล้ว แต่ภาคต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติเหมือนก่อนโควิด-19 จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายตื่นตระหนกเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวัน จนไม่สามารถปลดล็อคประเทศได้ เพราะภาคเอกชนไม่อยากให้มีการล็อคดาวน์เกิดขึ้นรอบสอง“
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเฉพาะการวางตัวทีมเศรษฐกิจใหม่ ในช่วงนี้ อาจทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่มีความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี แต่โดยหลักการบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นต้องสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด ดูแลปากท้องประชาชนได้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทาง กกร. ไม่ได้มีวาระหารือเรื่องนี้