ชำแหละงบ 64 'ชนวนก่อหนี้' ฝ่ายค้านชี้ซ้ำเติมวิกฤติ นายกฯยันคุ้มค่า-ซื้ออาวุธเท่าที่จำเป็น
นายกฯแจงสภา ยันงบ 64 คุ้มค่า-สอดคล้องเงื่อนไขเศรษฐกิจ ประสานเสียง “บิ๊กช้าง” ยันจัดซื้ออาวุธเท่าที่จำเป็น-แทนของเดิม ขณะที่ฝ่ายค้านชำแหละไร้แผน-ซ้ำเติมวิกฤติ หวั่นจุดชนวนก่อหนี้เพิ่ม จี้หั่นงบกองทัพ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564วงเงิน3.3ล้านล้านบาทในวาระแรก สมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างสลับสับเปลี่ยนกันลุกขึ้นอภิปราย โดยมุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่าของงบประมาณเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด19
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่รัฐบาลนำเสนอเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ยังเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติแผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
“รัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ”
จากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิก เริ่มที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อภิปรายว่า เวลานี้ประเทศอยู่ในภาวะโควิด19 แต่นายกฯไม่ได้ระบุถึงวิธีการแก้ไขอย่างใด การทำงบประมาณครั้งนี้ต้องพิเศษกว่าทุกครั้ง คือ ต้องรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้แม้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดน้อย แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะสูง เป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งมาตรการของรัฐบาลใช้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็นและอาจเสียหายเกิน 2 ล้านล้านบาท เป็นวิกฤตที่ลงลึกกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ
อีกทั้งมองว่า งบประมาณปี 2564 จัดสรรแบบเก่า เน้นการก่อสร้าง และการอบรมสัมมนา เสมือนทำไปวันๆเหมือนทุกปีตามที่ส่วนราชการเสนอมา รัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่ว่าประเทศไทยจะก้าวไปทิศทางไหน จะรับรองธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่อย่างไร เราจะเอาประเทศของเราไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก นโยบายการแจกเงินนั้นเป็นเพียงการหาคะแนนความนิยม
“หากดำเนินการไม่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อประเทศมาก หากรัฐบาลชี้แจงไม่ได้ก็คงจะสนับสนุนงบประมาณนี้ให้ผ่านไปไม่ได้” นายสมพงษ์ กล่าว
พท.ตั้งฉายา “ผู้นำแห่งการก่อหนี้”
เช่นเดียวกับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสร้างรัฐราชการ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ภารกิจแรกที่รัฐบาลจะต้องทำคือการลดจำนวนข้าราชการลง เพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันตนพิจารณางบประมาณที่เพิ่มขึ้น งบกลางเพื่อแก้โควิด 40,325 ล้านบาท ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ก.กู้เงิน และไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่จะนำมาซึ่งภาษี
ขณะที่ฐานะทางการคลังรัฐบาลกู้เองโดยตรงและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี น่าเป็นห่วงว่าถ้าการประมาณการรายได้ผิดและไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า นั่นหมายความปีงบประมาณต่อไปเหลือให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพีจะเต็มเพดานและจะไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจได้อีก
ดังนั้นวันนี้นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็น “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้” ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีกจะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ
“นายกฯ”ยันงบ64วางแผนอนาคต
ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลุกขึ้นชี้แจงว่า การจัดงบประมาณเป็นการวางโครงการไว้ในอนาคต เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ยังไม่เพียงพอ และเตรียมสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต ทั้งนี้ตนพูดแล้วก็ทำ ไม่เหมือนหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่ไม่เคยทำแบบนี้ได้
“ช่วงนี้เป็นช่วงของการฟื้นฟูและการส่งต่อแต่ต้องใช้เวลา การแจกเงินก็ไม่ใช่แจกเพื่อการเมืองคือหว่านให้ทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มให้ถึงคนที่เดือดร้อนจริงๆ ส่วนการใช้หนี้สาธารณะ หลายประเทศมีหนี้จำนวนมาก แต่มีหน่วยงานสำหรับการใช้หนี้อยู่แล้ว”
“ก้าวไกล” ชำแหละงบ-ลวง-พราง
นอกจากนี้ประเด็นที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของการอภิปรายครั้งนี้หนีไม่พ้นการใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพรวมถึงการจัดเตรียมกำลังพลที่อาจเกินความจำเป็น
โดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเจอกับภัยคุกคามทางโรคระบาด ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องปรับความคิดเรื่องความมั่นคงจากทางทหารเป็นความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชน การจัดทำงบประมาณต้องปรับงบกองทัพลงและเพื่อให้มีงบประมาณรองรับปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณสุข และเยียวยาประชาชนมากขึ้น
เมื่อมาดูงบประมาณกระทรวงกลาโหม ตนขอเรียกว่า “งบ ลวง พราง” ซึ่งมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1.ลวงว่าลดแต่ไม่ได้ลด 2.การตัดงบอำพราง กระทรวงกลาโหมก่อหนี้ผูกพันข้ามปีถึง 173,144 ล้านบาทหรือ 77.46% ของงบประมาณ ขณะที่ทั้งรัฐบาลมีหนี้ผูกพัน 1,199,000 ล้านบาท หรือเพียง 36.33%ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัว ซึ่งงบผูกพันเหล่านี้มี 22 โครงการเป็นงบการจัดซื้ออาวุธ และ 2 โครงการบำรุงและซ่อมอากาศยาน ซึ่งควรชะลอออกไปก่อน
และ3.เงินนอกงบประมาณที่ไม่ได้รายงานจากรายได้ที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน, สนามม้า, สนามมวย ฯลฯ ซึ่งตนเคยถามนายกรัฐมนตรีในกระทู้ถามสดเมื่อเดือนธ.ค.ซึ่งรมช.กลาโหมก็ตอบเพียงว่าอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลแต่วันนี้ผ่านมา 202 วันแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ
จาก 3 ข้อสังเกตในเบื้องต้น นำมาสู่ 3 ข้อเสนอ คือ 1.ตัดลดงบประมาณ 11,840 ล้านบาทจากการชะลอ 6 โครงการผูกพันใหม่ 22 โครงการซื้ออาวุธใหม่ และ 2 โครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.ลดหนี้ผูกพันให้เหลือไม่เกิน 30% ของงบประมาณประจำปี 3.เปิดเผยผลการดำเนินงานธุรกิจทุกอย่างของกองทัพ เพื่อให้รายได้กลับมาสมทบคลังเพื่อไปใช้จ่ายในด้านที่จำเป็น
นายกฯยันจัดซื้ออาวุธเท่าที่จำเป็น
ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงว่า เรื่องงบผูกพันข้ามปีได้ตรวจสอบแล้วเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อยากเรียนว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้เลย ทำให้อาวุธที่ใช้อยู่มีสภาพเก่าประมาณ70-80% ดังนั้นการจัดหาจึงเป็นการจัดหาทดแทนเพื่อไม่ให้เสียงบซ่อมบำรุง จึงขอให้เข้าใจในส่วนนี้ด้วย
ขณะที่การบรรจุข้าราชการทหารในปัจจุบัน มีจำนวนเพียง1ใน3 โดยยึดหลักการตามที่ควรจะมีเท่านั้น
เช่นเดียวกับพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหมกล่าวว่า กลาโหมตระหนักดีในเรื่องการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการจัดเตรียมกำลังนั้นได้จัดเตรียมตามความเร่งด่วน
ยืนยันว่าไม่ได้จัดเตรียมจนครบ 100% แต่เป็นการจัดเตรียมเพื่อความพร้อมในระดับหนึ่ง หรือ1ใน3เท่าที่มีอยู่ให้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เมื่อเกิดสถานการณ์ได้ ในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ใช้วิธีซ่อมปรับปรุงเป็นอันดับแรก ซึ่งงบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ใช้ในส่วนนี้ส่วนสถานการณ์โควิดจะเห็นว่ากลาโหมมีการโอนงบถึง1.8หมื่นล้านบาทซึ่งจะเป็นส่วนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
“งบที่จะได้รับในปี64ก็จะลดลงเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ซึ่งปีนี้ลดลงจากปี63ถึง12% เช่นเดียวกับรายการอื่นๆซึ่งมีการปรับลดเป็นจำนวนมาก”
ส่วนเงินสวัสดิการต่างๆยืนยันว่ายึดตามระเบียบปฏิบัติและมีกลไกในการตรวจสอบ
“ทิม” อัดงบ64กระจุกรัฐราชการ
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้ว ยังเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์เพราะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีการใช้งบตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศถึง20ล้านล้านบาทเป็นรัฐมนตรีที่มีการใช้งบต่อเนื่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
แต่ที่น่าแปลกใจคือตลอดระยะเวลา6ปีกลับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง3ล้านล้านบาทเท่านั้น วันนี้รัฐบาลกุมงบขนาดใหญ่เป็นจำนวนมหาศาลถึง5ก้อนทั้งงบประมาณปี64จำนวน3.3ล้านล้านบาท งบสู้ภัยโควิดจากพ.ร.ก.กู้เงินและพ.ร.บ.โอนงบ2ล้านล้านบาท เงินนอกงบประมาณอีก2.2ล้านล้านบาทรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 7.5ล้านล้านบาท
มีคำถามว่างบประมาณมากมายในขนาดนี้ แต่เหตุใดไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศได้ คำตอบคือคำตอบคืองบประมาณของเราเป็นงบราชการ โดยในจำนวนงบ3ล้านล้าน เราสามารถใช้ได้จริงคือ1ล้านล้านเท่านั้นเพราะงบเป็นงบที่ผูกพันในเรื่องของค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ สวัสดิการตามกฎหมายดอกเบี้ยและเงินต้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถพึ่งพาต่างประเทศได้ดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ขณะนี้มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือเพียง1ใน9เท่านั้น