8 เทคนิค สอนลูกไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ และสิ่งที่ลูกควรพกติดตัว
รู้แล้วบอกต่อ! 8 เทคนิค สอนลูกให้ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ และสิ่งของที่ลูกควรพกติดตัว
1. สอนให้รู้จักร่างกาย บอกให้ลูกเรียนรู้เรื่องอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศ ช่วงที่เด็กเริ่มเรียกอวัยวะได้ สอนเรียกอวัยวะเพศโดยใช้ชื่อที่เด็กเข้าใจ ไม่ต้องเป็นชื่อทางการ แต่เมื่อถึงวัยที่ลูกรู้ ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียกด้วยคำที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า การใช้คำทางการทำให้มีความเข้าใจตรงกัน อธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง
2. บอกพื้นที่ส่วนตัว บอกลูกว่าส่วนไหนบนร่างกายที่คนอื่นห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำสิ่งนี้กับลูกได้ ส่วนไหนบนร่างกายที่พ่อแม่เท่านั้นที่สัมผัสได้ และเมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแล แนะนำ โดยให้ระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูก และให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน
3. เน้นย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง ย้ำกับลูกเสมอว่าลูกมีสิทธิในร่างกายของลูกคนเดียวเท่านั้น หากไม่ยอมให้ใครมาสัมผัส ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิมาสัมผัส นอกจากการสัมผัสเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ หากใครมาสัมผัสแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ต้องกล้าบอกไปว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ
4. สอนให้รู้จักปฏิเสธ ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มาสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกาย สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ต้องพูดไปเลยว่า “ไม่ได้” และอาจจะส่งเสียงขอความช่วยเหลือดัง ๆ และวิ่งหนีออกมาไม่ต้องเกรงใจ
5. บอกสัมผัสที่ปลอดภัย บอกลูกว่าสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สามารถทำได้ เช่น สัมผัสของ พ่อแม่ ญาติ พี่เลี้ยง จำเป็นต้องช่วยลูกในการทำความสะอาดร่างกาย สัมผัสของแพทย์เพื่อตรวจรักษาร่างกาย แต่บอกลูกว่าพ่อแม่จะอยู่ด้วยเสมอ หรือบางครั้งการสัมผัสของครูในวิชาเรียนบางอย่างอาจต้องมีการสัมผัสกันเล็กน้อย
6. อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า สอนลูกว่าอย่าไว้ใจคนเเปลกหน้าที่มาคุยเด็ดขาด ถึงเเม้คนเหล่านั้นจะเอาขนมมาให้กินอย่ากินเด็ดขาด หรืออ้างว่ารู้จักกับพ่อเเม่ก็ตาม ไม่ต้องเกรงใจแม้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นคนที่เด็กเคารพก็ตาม เนื่องจากคนที่ทำอนาจารบางครั้งอาจจะเป็นคนใกล้ชิด
7. ไม่ใจอ่อนหรือปิดบัง กำชับลูกเสมอว่า ไม่ว่าคนที่ทำลูกจะขอร้องหรือขู่อย่างไร หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ลูกต้องบอกพ่อแม่ทันที ไม่ต้องปิดเป็นความลับ ไม่มีใครทำอะไรลูกได้เด็ดขาด เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่สามารถปกป้องเขาได้
8. พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาบรรยากาศสบาย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจตนเอง และความหมายการล่วงละเมิด สิทธิที่จะปกป้องตัวเอง หากลูกสงสัยจะได้ถามพ่อแม่ได้ตรง ๆ ไม่รู้สึกกดดัน เพื่อที่ลูกเกิดความวางใจและมั่นใจ
สิ่งของที่ลูกควรพกติดตัว
1. เด็กเล็ก ควรให้พกนกหวีด สำหรับใช้เป่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรฝึกให้ลูกรู้จักการวิ่งหนีเอาตัวรอด
2. เด็กโต ให้ลูกการเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัว
สถานที่เกิดเหตุการณ์การถูกล่วงละเมิด
การถูกล่วงละเมิดครึ่งหนึ่งมักเกิดที่บ้านหรือสถานที่ ที่ไม่ห่างจากบ้าน สถานที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน บ้านเพื่อน บ้านญาติ สถานที่เปลี่ยว ถนนเปลี่ยว เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าลูกอยู่ในที่ๆ ปลอดภัย
ที่มา : กรมอนามัย