เปิดแผน 'พลังงานสร้างไทย' เร่งสร้างงาน 'หมื่น' ตำแหน่ง

เปิดแผน 'พลังงานสร้างไทย' เร่งสร้างงาน 'หมื่น' ตำแหน่ง

กระทรวงพลังงาน เตรียมขับเคลื่อนโครงการลงทุนตามแผนพลังงานสร้างไทย เพื่อหวังกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะสั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ลุยอัดงบ 3 ปี กว่า 1.1ล้านล้านบาท วางเป้าเพิ่มจ้างงานกว่า 1 หมื่นคน

กระทรวงพลังงาน รายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 ถึงมาตรการช่วยเศรษฐกิจ “พลังงานสร้างไทย” ตามที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพลังงาน เสนอ ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 

มาตรการ “พลังงานสร้างไทย” ของกระทรวงพลังงาน ได้วางกรอบการดำเนินงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 ในปี 2563 ใช้เม็ดเงินรวมอยู่ที่ 40,500 ล้านบาท เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจ 29,000 ล้านบาท ด้วยการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG สำหรับผลิตไฟฟ้า เพื่อบริหารมาตรการลดค่าไฟฟ้า เช่น ลดค่าไฟฟ้าอัตรา 3% ยกเว้นเก็บอัตราไฟฟ้าขั้นต่ำที่ขยายถึง ก.ย.2563 รวมถึงตรึงราคาแก๊สหุงต้มถึง ก.ย.2563 และขยายถึง ธ.ค.2563 คิดเป็นเงิน 3,600 ล้านบาท

รวมถึงลดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดราคาขยายปลีกน้ำมันเดือน มี.ค.2563 คิดเป็นวงเงิน 1,200 ล้านบาทต่อเดือน และการปรับหลักเกณฑ์ลดราคาน้ำมันอ้าอิงหน้าโรงกลั่น 50 สตางค์ต่อลิตร ในเดือน มิ.ย.2563

159366915148

2.เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงานต่อเนื่อง 3 ปี (2563-2565) วงเงินลงทุนรวม 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 คิดเป็นเงินลงทุน 203,770 ล้านบาท ปี 2564 วงเงินลงทุน 457,473 ล้านบาท และปี 2565 วงเงินลงทุน 450,250 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม (E&P) ทั้งการอออกประกาศเชิญชวนยื่นสิทธิ์ E&P การรื้อถอนแท่นผลิตวงเงินรวม 829,900 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน

การศึกษาความเป็นไปได้และเริ่มดำเนินการ LNG Hub และเร่งก่อสร้าง LNG receiving Terminal (หนองแฟบ) ซึ่งปัจจุบันคืบหน้าแล้ว 50% ใช้เงินลงทุน 66,000 ล้านบาท การขยายท่อน้ำมันตามโครงข่ายการพัฒนาพื้นฐาน การสร้างคลังและอุปกรณ์น้ำมัน รวมถึงยกระดับมาตรฐานน้ำมัน Euro5 ทั่วประเทศ เงินลงทุน 46,873 ล้านบาท

การลงทุนพัฒนา Grid Modernization การทำมาตรการ Demand Response Control Center การตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานทดแทน (RE Forecast Center) เป็นต้น เงินลงทุน 10,100 ล้านบาท รวมถึงการศึกษา Grid Connectivity ขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และเมียนมา รวมถึงการลงทุนเชื่อมต่อสายส่งตามแผนเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน 38,500 ล้านบาท

159366939936

3.กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

แผนชุมชนเข้มแข็ง จะเกิดการจ้างงาน 8,000 คน สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยในด้านการตลาด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าถึง 2565 จำนวน 30 ชุมชน 150 ผลิตภัณฑ์ และโครงการ PTT Group Living Community Market Place ลงทุน 23 ล้านบาท จ้างงาน 800 คน

รวมถึง การใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่จัดสรรกรอบวงเงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 3,600 ล้านบาท เช่น สูบน้ำสู้ภัยแล้ง สถานีพลังงานชุมชน

อีกทั้ง การขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน (ลำพูน-สบเมย 147 กิโลเมตร) ลงทุน 8,000 ล้านบาท

แผนพลังงานทดแทน โดยเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์ คาดว่า จะออกประกาศรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการฯประเภทเร่งด่วน (Quick Win ) 100 เมกะวัตต์ ได้ในเดือน ก.ค.นี้ และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกกลางเดือน ส.ค.2563 พร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เดือน พ.ย-ธ.ค.2563 และเริ่มลงทุนต้นปี 2564 คาดว่า ใช้เงินลงทุน 1,721 ล้านบาท เกิดการจ้างงงาน 720 คน และหลังจากจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) จะสร้างรายได้ 224 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,440 คน

รวมถึงจัดทำโครงการต้นแบบ 2 พื้นที่ คือ โรงไฟฟ้าทับสะแก 3 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแม่แจ่ม 3 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 753 ล้านบาท

แผนนวัตกรรมพลังงาน โดย กฟผ.จัดตั้งบริษัท Innovation Holding เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology จะเสนอ ครม.พิจารณาเพื่อจัดตั้งภายในปี 2563 ใช้เงินลงทุน 250-300 ล้านบาท ขณะที่ ปตท.ลงทุน InnoSpace สนับสนุนทุน 17 สตาร์ทอัพในปี 2563 และลงทุน 5 ปี วงเงิน 550 ล้านบาท จ้างงาน 2,000 คน