ธุรกิจ 'รถทัวร์' หนี้พุ่ง 6 หมื่นล้าน จอดนิ่ง 4 เดือนสูญรายได้ 7พันล้าน
ธุรกิจรถขนส่งท่องเที่ยวหนี้ท่วม 6 หมื่นล้านบาท รถนำเที่ยว 3 หมื่นคันจอดนิ่ง 4 เดือน สูญรายได้กว่า 7 พันล้านบาทเซ่นพิษโควิด “สทท.” ยื่นหนังสือร้องสำนักงานประกันสังคมยืดระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยแรงงานท่องเที่ยว 13 สาขากรณีว่างงานจากโควิดไปจนถึงสิ้นปีนี้
นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย และประธานคณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยของ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคขนส่งโดยสารทางบกมีผู้ประกอบการรถนำเที่ยวทั่วประเทศไทยรวม 1 หมื่นราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก 50% ขนาดกลาง 30% และขนาดใหญ่ซึ่งมีรถมากกว่า 100 คันขึ้นไปที่สัดส่วน 20%
โดยทั้งหมดมีจำนวนรถนำเที่ยวประมาณ 4 หมื่นคัน แบ่งเป็นรถให้บริการนักท่องเที่ยว 90% หรือกว่า 3.6 หมื่นคันซึ่งจอดสนิทมานานกว่า 4 เดือนแล้ว และกว่าครึ่งหนึ่งให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนอีก 10% เป็นรถให้บริการรับส่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งล่าสุดต้องหยุดวิ่ง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน จนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องลดกำลังการผลิตและลดกะแรงงานลงเพื่อบริหารต้นทุนในภาวะวิกฤติ
“ตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจรถนำเที่ยวกว่า 3.6 หมื่นคันเสียรายได้เฉลี่ยคันละ 5 หมื่นบาทต่อเดือน หรือคิดรวมประมาณ 1,750 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อคำนวณรวม 4 เดือนล่าสุดตั้งแต่ มี.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ารายได้ของธุรกิจรถนำเที่ยวหายไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท โดยกว่า 3 หมื่นคันติดภาระหนี้สิน เฉลี่ยคันละ 2 ล้านบาท รวมภาระหนี้สินทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจรถนำเที่ยวหลายราย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดเสนอขายรถแก่ผู้สนใจ เพื่อปิดหนี้สิน ลดภาระทางการเงิน”
ทั้งนี้ในธุรกิจรถนำเที่ยวมีจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้อง 1 แสนคน โดยมีแรงงานที่ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยโรคโควิด-19 จากสำนักงานประกันสังคมจำนวน 3 หมื่นคน ทั้งนี้ไม่รวมกับคนขับรถรับจ้างรายวันที่มีกว่า 2-3 หมื่นคน
“เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมครบกำหนดจ่ายเงินชดเชยฯ 3 เดือนเพื่อช่วยเหลือแรงงานภาคท่องเที่ยวเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สทท.จึงยื่นข้อเรียกร้องขอให้ยืดระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยฯแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขาอาชีพไปจนถึงสิ้นปี 2563 เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดรวมถึงรถนำเที่ยวน่าจะลากยาวถึงสิ้นปี กว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาคาดเป็นปี 2564 และแม้จะกลับมาในปีหน้า ธุรกิจรถนำเที่ยวก็น่าจะลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ เช่น ตลาดกรุ๊ปทัวร์จีน กลับมาได้ 30% จากปกติก็นับว่าโชคดีแล้ว”
นายวสุเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านแพ็คเกจกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับโครงการกำลังใจที่จะมอบสิทธิ์ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ราว 1.2 ล้านคน ท่องเที่ยวฟรี 100% โดยต้องใช้บริการของบริษัทนำเที่ยวในระบบที่มีจำนวนกว่า 1.3 หมื่นราย ในราคานำเที่ยว 2 วัน 1 คืน ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน สมาคมฯคาดว่าธุรกิจรถขนส่งท่องเที่ยวจะได้ส่วนแบ่ง 30% จากวงเงิน 2,400 ล้านบาทของโครงการกำลังใจ หรือคิดเป็น 800 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยประคองธุรกิจรถขนส่งท่องเที่ยวได้
ทั้งนี้ยังต้องดูกระบวนการเบิกจ่ายว่าใช้เวลานานหรือไม่ เนื่องจากตามกำหนดคิกออฟโครงการฯคือในเดือน ก.ค.นี้ ธุรกิจรถนำเที่ยวก็หวังว่าจะได้รับเงินจากการเบิกจ่ายเร็วสุดในเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องสำรองจ่ายค่าน้ำมัน ค่าพนักงานขับรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ล่วงหน้า โดยเบื้องต้นคาดว่ารถนำเที่ยวจะมีรายได้จากโครงการนี้ที่ 8,000 บาทต่อคันต่อวัน
อย่างไรก็ตาม รถบัสนำเที่ยวส่วนใหญ่จอดนิ่งมานานกว่า 4-5 เดือน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจ่ายค่าบำรุงรักษา เช่น ระบบแอร์ แบตเตอรี่ และอื่นๆ รวมเฉลี่ยคันละ 1 แสนบาท และลงทุนค่าใช้จ่ายเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยเพิ่ม จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อจ่ายค่าซ่อมบำรุง หรือให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาช่วยสนับสนุนบุคลากรช่างมาดูแลรถนำเที่ยวตามเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย เตรียมความพร้อมก่อนให้บริการนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้สมาคมฯยังคาดหวังให้รัฐบาลช่วยเยียวยาด้านการเงินแก่รถนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในระยะต่อไป ที่คันละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท พร้อมเร่งกระตุ้นตลาดการเดินทางเพื่อศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มการใช้บริการรถนำเที่ยวมากขึ้น