เตือน! อย่าเชื่อ คำชวนยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา หวังเพิ่มทุนประกัน
"เลขาธิการ คปภ." เตือน! อย่าเชื่อ “คำชวน ยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา หวังเพิ่มทุนประกัน” ระวังจะทำให้เสียประโยชน์ เร่งส่งทีมตรวจสอบ หากพบหลอกลวง ฉ้อฉลประกันภัย โทษถึงจำคุก
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.63 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้ไม่ประสงค์ดีโทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้เอาประกันภัย และชักชวนให้ยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อนำเงินไปทำกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับใหม่ โดยมีข้อเสนอว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มทุนประกัน หรือการเพิ่มเงินชดเชยค่าห้อง โดยจ่ายเบี้ยประกันภัยเท่าเดิม การนำเบี้ยประกันภัยส่วนเกินที่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้นำไปเพิ่มทุนประกันภัยและซื้อค่ารักษาเพิ่มขึ้นได้ เป็นต้น โดยกล่าวอ้างว่า เป็นการปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของ คปภ.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็นการชักชวนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย โดยผู้ชักชวนจะมุ่งเน้นไปยังผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่าในกรมธรรม์ให้ยกเลิกและขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อนครบกำหนดสัญญา ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระไปแล้ว หรือ หากซื้อประกันชีวิตฉบับใหม่อาจต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพที่เพิ่มขึ้นตามอายุของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การชักชวนทางโทรศัพท์เพื่อให้ยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อนครบกำหนดสัญญา จะทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียประโยชน์ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมประกันภัย จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนทั่วไป อย่าได้หลงเชื่อคำชักชวนดังกล่าว โดยขอให้พิจารณาด้วยความระมัดระวังและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยโดยตรง หรือ สืบค้นข้อมูลประกันภัยได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th
นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว หากเป็นการกระทำของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ย่อมเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ คปภ. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งนายทะเบียนมีอำนาจลงโทษด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าดังกล่าวได้ และหากพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดดำเนินการดังกล่าวโดยทุจริต หลอกลวงผู้เอาประกันภัยด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้นั้น ทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิม และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงการกระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ย่อมเข้าลักษณะเป็นการฉ้อฉลการประกันภัย จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 114/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562
“สำนักงาน คปภ. ได้สั่งการให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังบริษัทนายหน้าประกันภัยตามที่ปรากฏชื่อแล้ว ซึ่งหากพบว่า มีการกระทำผิดจริงก็จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยที่มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทุกช่องทาง โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชนและผู้เอาประกันภัย เพื่อให้ได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพ และได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยด้วยความถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งหากประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ได้รับการชักชวนหรือเสนอขาย สามารถดาวน์โหลด แอฟพลิเคชั่น “รอบรู้ประกันภัย” ได้ฟรี เพื่อตรวจสอบข้อมูลด้านการประกันภัยก่อนตัดสินใจ รวมถึงข้อมูลใบอนุญาตการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยของผู้ชักชวนว่า มีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วหรือไม่ โดยกรอกรายละเอียดของผู้ชักชวน อาทิ ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่ใบอนุญาต เป็นต้น ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย