วิกฤติ COVID-19 บททดสอบภูมิต้านทาน 'การส่งออก' ไทย

วิกฤติ COVID-19 บททดสอบภูมิต้านทาน 'การส่งออก' ไทย

รีเช็ค 5 กลุ่มอาการ "การส่งออก" ของไทยจากวิกฤติ COVID-19 ที่วิกฤติครั้งนี้ได้เข้ามาเป็นบททดสอบภูมิต้านทาน ว่าแต่ละกลุ่มจะสามารถทนทานกับความไม่แน่นอนได้มากน้อยแค่ไหน?

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบจากทุกเซ็กเตอร์ โดยเฉพาะภาค "การส่งออก" ของไทย ที่ไม่สามารถดำเนินการได้หรือลดน้อยลง ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก 

สะท้อนจากข้อมูลฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่ระบุว่า ผ่านมาแล้วครึ่งทางสำหรับปี 2563 ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการไทย หลังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวสูงสุดในรอบหลายทศวรรรษ

แม้ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ดีจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคเริ่มมีสัญญาณกระเตื้องขึ้น แต่สถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกที่ยังวิกฤติจากจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันที่ทำสถิติสูงสุด ส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่หดตัวถึง 22.5% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ผลักดันให้การส่งออก 5 เดือนแรกปี 2563 หดตัว 3.7%

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากมองในแง่ดีอาจกล่าวได้ว่าวิกฤติ COVID-19 ได้เข้ามาเป็นบททดสอบภูมิต้านทานการส่งออกของไทย ว่าจะสามารถทนทานกับความไม่แน่นอนหรือวิกฤติอื่น ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากพิจารณาจากตัวเลขส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และ 5 เดือนแรกปี 2563 ที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนัก สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยได้ “5 กลุ่มอาการดังนี้

159412406350

  • กลุ่มแข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง

คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดีต่อเนื่องทั้งในช่วงก่อนและระหว่าง COVID-19 ระบาด พบว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพ นอกจากนี้สินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดก็เป็นที่ต้องการมากขึ้นเพื่อตอบสนองกระแส Social Distancing และกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีภูมิต้านทานและมีศักยภาพในสินค้าเหล่านี้ ประเด็นในเชิงนโยบายจึงอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้าง Branding ให้สินค้าไทยกลุ่มนี้กลายเป็นสินค้าในใจของผู้บริโภคทั่วโลกที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองกระแสความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

  • กลุ่มฟื้นตัวชั่วขณะ

คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกเริ่มชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า แต่กลับได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แนวทางในการเสริมแกร่งของสินค้ากลุ่มนี้ในระยะถัดไปอาจเป็นการหาตลาดส่งออกใหม่ ที่ยังไม่อิ่มตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการแตกไลน์การผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายขึ้น

  • กลุ่มติดเชื้อ

คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวสูงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่มาหดตัวในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม ที่ได้รับผลกระทบจากราคาและอุปสงค์ของภาคการผลิตและภาคการขนส่งที่ลดลงจากมาตรการ Lockdown และ Social Distancing

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมข้างต้นส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและเป็นฐานการผลิตสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ แม้ในระยะสั้นอาจเผชิญกับภาวะช็อกจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วหรือมีการเลื่อนการบริโภคออกไป แต่หากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น สินค้ากลุ่มดังกล่าวก็มีโอกาสกลับมาฟื้นตัว

  • กลุ่มภาวะแทรกซ้อน

คือ กลุ่มสินค้าที่มูลค่าส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวค่อนข้างต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างและกระแส Disruption ในหลายมิติ อีกทั้งถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าเกษตรที่ส่วนใหญ่ส่งออกในลักษณะสินค้าขั้นต้นและต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง สินค้ากลุ่มนี้อาจถึงเวลาที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือบางอุตสาหกรรมก็อาจจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ และเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกลับมายังประเทศไทย

  • กลุ่มอาการวิกฤติ

คือ กลุ่มสินค้าที่มูลค่าส่งออกหดตัวตลอด 3 ปีที่ผ่านมาและหดตัวต่อเนื่องในช่วง COVID-19 พบว่าสินค้ากลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างและมูลค่าเพิ่มต่ำ รวมทั้งถูกซ้ำเติมจากกระแส Technological Disruption อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับตัวให้สอดคล้องกับ Megatrends

แม้สินค้าส่งออกของไทยหลายกลุ่มอาการข้างต้นหดตัวลงจากผลกระทบของ COVID-19 แต่ในภาพรวมแล้วการส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าคู่แข่งหลายประเทศที่อาจมีความหลากหลายของสินค้าส่งออกน้อยกว่าไทย

อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง EXIM BANK ได้เตรียมเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออกสินค้าในแต่ละกลุ่มอาการข้างต้น ทั้งมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูสำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบระยะสั้นจาก COVID-19 รวมถึงมาตรการเสริมความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอด เพื่อให้สามารถผ่านพ้นมหาวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน และทำให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง