ไทยเบฟ แตะเบรกลงทุน ตุนกระแสเงินสด เจอพิษโควิด..!ทุบเหล้า-เบียร์หดตัว ครึ่งปียอดขายร่วง3.9%
โรคโควิด ส่งผลกระทบธุรล้มทั้งกระดาน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ "ไทยเบฟ" ลดงบลงทุนปกติ(CAPEX)ยืดแผนลทุนไม่จำเป็น ส่วนยอดขาครึ่งปีแรก กลุ่มเหล้าเบียร์ตก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พลิกโกยกำไร อาหารหดตัวเล็กน้อย
ในการประชุมประจำปีผ่านออนไลน์ ของบริษัทเครื่องดื่มและอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)” ที่ผ่านมา มีประเด็นน่าสนใจมากมาย ทั้งด้านการเงิน การตลาด การเสิร์ฟสินค้าเข้าถึงผู้บริโภค ในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด
สำหรับการประชุมประจำปีครั้งนี้ มีคำถามเกิดขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเงิน การปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงิน เมื่อภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แผนการเข้าซื้อกิจการยังมีอยู่หรือไม่ เป็นต้น โดยทางบริษัทได้ให้คำตอบค่อนข้างครอบคลุม
หากพิจารณาโครงสร้างทางการเงิน ที่ผ่านมา เจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่นำทัพธุรกิจเข้าซื้อกิจการเสริมความแข็งแกร่งให้อาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารอย่างมาก ทั้งซื้อซาเบโก้ 1.56 แสนล้านบาท ซื้อสาขาร้านสตาร์บัคหมื่นล้านบาท และสาขาร้านเคเอฟซีหมื่นล้านบาท เป็นต้น ทำให้ต้องเดินสร้างรายได้และ “กำไร” ขณะเดียวกันต้องพยายามลดภาระหนี้ที่มีอยู่ด้วยเช่นกัน
ฐาปน สิริวัฒนภักดี
สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงินจะต้องให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม มุ่งการลดภาระหนี้ด้วยการออกหุ้นกู้ และขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
แม้จะมีการระดมเงินกู้เข้าซื้อกิจการ แต่ปัจจุบันไทยเบฟยังมี “ความแข็งแกร่งทางการเงิน” มีกระแสเงินสดเพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจ ทว่าการขับเคลื่อนธุรกิจในห้วงเวลานี้ ที่ทั้งโลกเผชิญวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิทั้งโลก รวมทั้งธุรกิจ เรียกว่า “กวาดทั้งกระดาน” ให้พังพาบราบเป็นหน้ากลอง ดังนั้น บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง สำรองกระแสเงินสด สิ่งที่ตามมาคือการต้อง “ลดแผนการลงทุนปกติประจำปี”(CAPEX) หรือ ยืดเวลาของแผนการลงทุนที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานี้ออกไป รวมถึงปีถัดไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวทุกครั้ง สื่อจะถามถึง "งบลงทุน" ของไทยเบฟ แต่ผู้บริหารจะไม่ระบุตัวเลขงบการลงทุนประจำปีที่ชัดเจน แต่จะให้เป็นประมาณการทุกปีใช้เงินหลัก "พันล้านบาท" เพื่อขยายธุรกิจ
ขึ้นชื่อเป็น “ราชาเทคโอเวอร์” กลยุทธ์ทางลัดในการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and acquisitions : M&A) ถือเป็นหมากรบสำคัญในการขยายธุรกิจของไทยเบฟ เมื่อถูกถามถึงการ M&A ใหม่ๆ มีอยู่หรือไม่ บริษัทยืนยันว่ายังคงมองหา "โอกาส" ในการเข้าไปซื้อหุ้น ซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
++ผลประกอบการครึ่งปี..ตก!!
นอกจากนี้ แม้ปีนี้ไทยเบฟ จะไม่รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 และภาพรวมครึ่งปีแรกอย่างเป็นทางการ แต่ในการประชุมออนไลน์ดังกล่าวได้มีการโชว์ตัวเลขยอดขาย และ “กำไร” ของบริษัทช่วงครึ่งปี ระหว่าง ต.ค.62-มี.ค.63 (ปีงบประมาณ ต.ค.62-ก.ย.63) นอกจากการเติบโตและหดตัวของธุรกิจที่ในช่วงโรคโควิดระบาดในไทย ยังเห็นการปรับตัว พลิกกลยุทธ์ในการทำตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจในต่างประเทศด้วย
สำหรับครึ่งปีแรกไทยเบฟสร้างยอดขายรวม 137,092 ล้านบาท หดตัว 3.9% กำไรสุทธิ มีกำไรสุทธิ 15,918 ล้านบาท เติบโต 11.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กำไรสุทธิอยู่ที่ 9,213 ล้านบาท พิจารณาแค่ไตรมาส 2 จะพบว่ากำไรอยู่ที่ 6,705 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเกือบ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ หากแยกยอดขายและกำไรตามประเภทสินค้า กลุ่มสุรา ทำยอดขาย 64,262 ล้านบาท เติบโต 2.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 12,609 ล้านบาท เติบโตถึง 16.9% แต่หากดูยอดขายเชิงปริมาณอยู่ที่ 359 ล้านลิตร ลดลง 1% อย่างไรก็ตาม สินค้าหัวหอกที่บุกตลาดยังเป็นสุราขาวแบรนด์ “รวงข้าว” สุราสีหงส์ทอง เบลนด์285 และแสงโสม ฯ ส่วนเบียร์ มียอดขาย 56,875 ล้านบาท หดตัว 11.2% มีกำไรสุทธิ 1,011 ล้านบาท หดตัวถึง 33.8% และยอดขายเชิงปริมาณ 1,208 ล้านลิตร ลดลง 13.3% สะท้อนถึงการบริโภคที่ลดลง เพราะในช่วงที่เกิดโรคระบาดช่องทางจำหน่ายบางประเภทอย่าง On Premise เช่น ผับ บาร์ ร้านอาหารฯ ถูก “ล็อกดาวน์” จำกัดการจำหน่าย ผู้บริโภคต้องอยู่บ้าน(Stay home)เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทว่าที่ต้องเกาะติดคือไตรมาส 3 เพราะมีการห้ามจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์ช่วงเวลาหนึ่ง และร้านค้าถูกล็อกดาวน์ในวงกว้างนานหลายเดือน
อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟ เผชิญสถานการณ์ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆในไทย ที่ได้รับผลกระทบ แต่การทำตลาดของเบียร์ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “เบียร์ช้าง” จัดกิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์ ส่งเบียร์ช้างโคลด์ บริว ลาเกอร์ ฉลอง 25 ปี ดึงนักแสดง นักฟุตบอล ผู้นำทางความคิด(KOL) ลุยแคมเปญฟุตบอลชาเลนจ์ออนไลน์ เพื่อสานพันธกิจสำคัญในการเป็น “เบอร์1” ในไทยให้ได้
ไม่ใช่แค่เบียร์ช้างที่ยังคงทำตลาด เพราะแบรนด์อื่นทั้งเฟเดอร์บรอย ฮันทส์แมน ต่างออกสินค้าใหม่เสริมทัพพอร์ตโฟลิโอเบียร์ของบริษัท รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดภูมิภาคที่ “ไทยเบฟ” เป็น “ผู้นำ” ตลาดเบียร์ หลังถือหุ้นใหญ่ในซาเบโก้ เวียดนาม การทำตลาดเบียร์ไม่ได้มีแค่ในไทย เพราะไทยเบฟเพิ่งสร้างโรงงานเบียร์และเดินเครื่องผลิตสินค้าที่เมียนมาร์ จึงทำกิจกรรมออนไลน์ในตลาดดังกล่าวด้วย
++เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โกยกำไรโดดเด่น
ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลประกอบการออกมาค่อนข้างดี โดยไตรมาส 2 ยอดขายรวม 4,476 ล้านบาท เติบโต 5.1% มีกำไรสุทธิ 360 ล้านบาท เติบโต 483% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ “ขาดทุน” 94 ล้านบาท รวมครึ่งปียอดขาย 8,690 ล้านบาท เติบโต 4.9% กำไรสุทธิ 480 ล้านบาท เติบโต 239.9% เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องใช้งบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างแบรนด์ ดูแลโครงสร้างต้นทุน ทำให้มีกำไรแข็งแรง ส่วนกลยุทธ์หนุนการทำกำไร เช่น ขายเครื่องดื่มเอส โคล่า แบบคืนขวด เน้นช่องทางจำหน่ายร้านค้าทั่วไปและร้านอาหาร เพิ่มกระแสเงินสด
ทั้งนี้ การปรับตัวช่วงโควิด ได้ขยายช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง บุกตลาดออนไลน์(อีมาร์เก็ตเพลส) มุ่งสินค้าสุขภาพรับความต้องการของผู้บริโภค ส่วนการทำตลาดเจาะช่องทางออนไลน์เต็มสูบ
ด้านธุรกิจอาหาร ยอดขายรวม 7,400 ล้านบาท ลดลง 200 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมียอดขาย 7,600 ล้านบาท โดยการขยายสาขาร้านอาหาร และการส่งสินค้าเดลิเวอรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนยอดขาย
ด้านธุรกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะซาเบโก้ ในเวียดนามรายได้ไตรมาสแรก ลดลง 47% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิลดลง 44% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้ การบริหารธุรกิจเบียร์ช่วงวิกฤติ ได้บริการสต๊อกให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนทางการเงิน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่มีแผนเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะการเลื่อนแผนการขยายธุรกิจในอำเภอกู๋จี(Cu Chi) โฮจิมินห์ และจังหวัดซ้อกจัง(Soc Trang) ในเวียดนามใดและไม่มีแผนเพิ่มการลงทุน มุ่งระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะเดียวกันได้ลุยพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าใหม่ๆช่วงล็อกดาวน์ เช่น ส่งสินค้าเดลิเวอรี่ถึงบ้าน เป็นต้น
สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดในเวียดนาม