วิกฤติบีบคนทั้งโลก ให้เป็นหนึ่งเดียว
ขณะนี้เป้าหมายของทุกประเทศต่างต้องการที่จะปราบ "โควิด-19" ให้อยู่หมัด ดังนั้นจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาวัคซีนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรักษาชีวิตของชาวโลกไว้ให้ได้มากที่สุด
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องให้ต้องใจหาย ใจคว่ำกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะความกังวลของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอก 2 จากเหตุการณ์วุ่นๆ ของทหารอียิปต์ และเด็กหญิงซูดาน และล่าสุด ทูตฯ ของชาติตะวันตก ส่งผลให้รัฐต้องทบทวนมาตรการคัดกรอง ป้องกัน กันใหม่ เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบทันทีต่อภาคการท่องเที่ยว ยอดจองที่พัก โรงแรมในจังหวัดระยอง ต้นทางเกิดเหตุถูกแคนเซิลไปเกือบทั้งหมด ลามมาถึงจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงทั้งชลบุรี จันทบุรี ขณะที่มีข้อมูลว่านักท่องเที่ยวได้ย้ายการท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันออก มาฝั่งตะวันตกแถบจังหวัดเพชรบุรี ส่งผลให้ยอดจองที่พัก โรงแรมแถบนี้เริ่มเต็มและกลับมาคึกคัก ดูเหมือนว่าเราจะเริ่มคลายกังวลได้ระดับหนึ่งแต่คงไม่ทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องที่ต้องย้ำเตือน จับตา และเฝ้าระวังกันต่อไป
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ของโลกและประเทศไทย รวมถึงแนวทางดำเนินการกับการระบาดระลอก 2 ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Siriraj Channel นับว่ามีความน่าสนใจ และต้องตระหนักคิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการย้ำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่และอันตรายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถิติตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแต่ละวันของประเทศในแทบทุกทวีป การกลับมาของอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยใหม่ การเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่เคยควบคุมได้ดีหรือค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกือบทั่วโลก ทะลุ 13 ล้านรายไปแล้ว
แม้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่า มีมาตรการป้องกันที่ดี หากทั่วโลกยังมีการแพร่กระจายของโควิด-19 กันอย่างคึกคัก ดังนั้นเรายังต้องเข้มข้นมาตรการในประเทศของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรมีใครได้รับอภิสิทธิ์ในห้วงเวลาที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดยังดำเนินอยู่ กลับกันต้องช่วยกันสอดส่อง ค้นหา จัดการ ทำให้บ้านของเราปลอดภัย จนกว่าโลกจะได้วัคซีน ขณะที่เราเห็นว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือทางการแพทย์ครั้งประวัติศาสตร์ แม้แต่ละประเทศยังคงเฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้น การเดินทางไปมาหาสู่กันยังลำบาก แต่เราเห็นบุคลากรด้านการแพทย์ และวงการด้านเภสัชกรรม ตื่นตัว เร่งคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 กันอย่างมีความหวัง
ด้วยเพราะเป้าหมายของทุกประเทศต่างต้องการที่จะ “ปราบ” โรคระบาดครั้งนี้ให้อยู่หมัด เราจึงได้เห็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาวัคซีนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็เร่งทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพื่อพัฒนาวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ต่างร่วมมือกันเต็มที่ แม้ในเชิงเศรษฐกิจ แต่ละประเทศอาจยังมีการห้ำหั่น ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ จนนำไปสู่สงครามการกีดกันทางการค้า ที่เราเห็นกันอยู่ตลอด แต่วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ กลับบีบให้คนทั้งโลก ทุกประเทศ “ต้อง” ร่วมมือ ร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อรักษาชีวิตของชาวโลกไว้ให้ได้มากที่สุด