'นักธุรกิจญี่ปุ่น' ห่วงไทย 'ปรับครม.' นโยบายเปลี่ยน
สื่อญี่ปุ่นวิเคราะห์ ทีมเศรษฐกิจที่ทำงานด้วยกันมานาน ฉลอง 1 ปี ครม.ด้วยการลาออก สะเทือนรัฐบาล นักธุรกิจห่วงนโยบายเศรษฐกิจ-การเงินเปลี่ยน เจซีซีหวังเดินหน้าประเทศไทย 4.0 ผู้ว่า ธปท.แก้บาทแข็ง
กรณีที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ลาออกเมื่อวันที่ 16 ก.ค. เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิวของญี่ปุ่นรายงานว่า ฉากหน้าของการลาออกคือการแสดงความรับผิดชอบที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำ แต่อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า เป็นความแตกแยกของพรรคการเมือง เป็นไปได้ว่าคนที่มารับตำแหน่งแทนเป็นคนจากพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลหรือคนใกล้ชิด
นิกเคอิระบุว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถวายสัตย์เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 หลังเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. 2562 แต่เศรษฐกิจที่สูญเสียแรงส่งอย่างกะทันหันท้าทายฝีมือรัฐบาลเลือกตั้งที่มีรากเหง้ามาจากคณะรัฐประหาร
ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด รัฐบาลไทยต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 ครั้ง พ.ร.ก.นี้ลดบทบาทของคณะรัฐมนตรีและสภาลง แต่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากถึงขนาดจำกัดสิทธิประชาชนได้
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายกฯ เตือนว่า อาจปรับ ครม.เร็วกว่าที่คิด ซึ่งการลาออกของ 4 รมต. บีบให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำเช่นนั้น
นิกเคอิกล่าวถึงนายสมคิดว่า ได้รับแต่งตั้งจากพล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2558 ให้เป็นรองนายกฯ ดูแลเศรษฐกิจ ตั้งแต่นั้นทีมของเขาก็เป็นศูนย์กลางกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย และอยู่ต่อมาตั้งแต่คณะรัฐประหารมาเป็น ครม.จากการเลือกตั้ง
นายสมคิดเคยเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จากปี 2544-2549 และเป็นที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศให้กับพล.อ.ประยุทธ์หลังรัฐประหารปี 2557 ได้ไม่นาน
สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นเคยเติบโตดีกว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2560 และ 2561 แต่เสื่อมถอยนับจากนั้น ปี 2562 จีดีพีไทยโต 2.4% ต่ำกว่าจีดีพีโลกที่โต 2.9%
ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ว่า เศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหดตัวลง 8.1% ในปีนี้ผลจากโควิดระบาด เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าหดตัว 4.9%
ผลกระทบรุนแรงที่ไทยได้รับจากโควิด-19 สะท้อนว่าประเทศพึ่งพาความต้องการจากภายนอก รวมทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก เป้าหมายเศรษฐกิจประการหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คือเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศจากเน้นการส่งออกมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอกำราบการแพร่ระบาดได้
ตั้งแต่ปี 2558 ไทยใช้นโยบายประเทศไทย 4.0 ตั้งใจเปลี่ยนจากพึ่งพาอุตสาหกรรมหนักไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนายสมคิด เป็นกลไกสำคัญในการคิดแผน บริษัททั้งในและต่างประเทศต่างลงทุนไปกับประเทศไทย 4.0
“เราหวังว่าประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเดินหน้าต่อไปไม่ต้องคำนึงถึงการปรับ ครม. เจซีซียังหวังด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้ผู้ว่าฯ คนใหม่จะเดินหน้าลดการแข็งค่าของเงินบาท” นายนาโอกิ ซากาโมโต เลขาธิการหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) ประจำกรุงเทพฯ กล่าว
ผู้บริหารธุรกิจหลายรายกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องมีผู้ว่าการคนใหม่ หลังจากนายวิรไท สันติประภพ หมดวาระลงในเดือน ก.ย.นี้ และไม่สมัครเข้ารับการคัดเลือก
คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ปิดการรับรายชื่อวานนี้ (17 ก.ค.) หลังจากขยายเวลาจากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 16 มิ.ย. มีผู้สมัครเพิ่มอีก 2 คน ได้แก่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน และทีมที่ปรึกษานายกฯ สมัครในนาทีสุดท้าย และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ส่วนคนที่สมัครมาก่อนแล้วคือนายเมธี สุภาพงศ์ และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการฯ ส่วนผู้สมัครที่เป็นบุคคลภายนอก ได้แก่ น.ส.ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และนายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร Head of Research ของ CLSA ประเทศไทย
นิกเคอิระบุด้วยว่า ผู้ว่าการ ธปท.จะนำพานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของไทยอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อหนุนเศรษฐกิจที่เสียหายเพราะโควิด พร้อมกับทำตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะส่งรายชื่อผู้เข้ารอบ 2 คนสุดท้ายไปให้ รมต.คลังพิจารณา จากนั้นส่งให้ ครม.อนุมัติ แต่เป็นไปได้ว่าการที่ทีมเศรษฐกิจปัจจุบันถอนตัวออกไปอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท.
นอกจากเรื่องการปรับ ครม.และคัดเลือก ผู้ว่าฯ ธปท.แล้ว ไทยกำลังพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่ แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายสมคิดผลักดันให้ร่วม แต่ไทยยังไม่มีทีท่าตัดสินใจในปีนี้
คณะกรรมาธิการสภาเผยว่า จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาข้อดีข้อเสียถึงเดือน ก.ย. หลังจากถูกกลุ่มประชาสังคมต้านรุนแรงมาก อ้างว่าข้อตกลงนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงยา ผลการศึกษาเสร็จไม่ทันก่อนการประชุมคณะกรรมการซีพีทีพีพีในวันที่ 5 ส.ค.นี้ที่เม็กซิโก