New Normal รักษามะเร็ง ลดวิตกโควิด-19
กว่าครึ่งปีที่คนทั่วโลกต้องปรับตัวใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การทำธุรกิจ อุตสาหกรรม ทุกอาชีพต้องดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น
แวดวงอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้มีการปรับตัวทางด้านวิทยาการทางการแพทย์ โดยในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บริการ Drive thru เจาะเลือดโดยไม่ต้องลงจากรถ แอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้ บริการส่งยาที่บ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และความปลอดภัยของคนไทย
ทว่าก็มีบางโรคที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมาโรงพยาบาลได้ อย่าง กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่าง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยง เพราะต้องมารับการรักษาให้ยาอย่างต่อเนื่อง หรือตามรอบที่แพทย์กำหนด เพื่อให้เกิดการรักษาอย่างต่อเนื่อง หายขาดจากโรคมะเร็ง
“พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวในงานเสวนา“วิถีใหม่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยุคโควิด-19” จัดโดยบริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ว่ามะเร็งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน แต่ทุกมะเร็งต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากขาดยาควบคุมโรค ไม่ได้ จะทำให้เกิดการลุกลามของโรค
ช่วงที่เกิดโควิด-19 มีผู้ป่วยไม่อยากมาโรงพยาบาล กลัวติดโรคโควิด-19 และบางคนที่ผ่าตัดแล้วก็เข้าใจผิดว่าโรคหายขาดแล้วไม่ต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ ขณะเดียวกัน การเดินทางข้ามเขต ข้ามประเทศไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคนหยุดการให้ยาประมาณ 1-2 เดือน และเมื่อกลับมารักษา คนไข้จากระยะที่ 2 กลายเป็นระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ดังนั้น แพทย์ต้องปรับแนวปฎิบัติเพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลโดยตรงถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่ง 3 แนวทางที่แพทย์สามารถทำได้ คือ 1.การจัดลำดับความเร่งด่วนในการรักษาหรือต้องมาพบแพทย์ เพื่อลดจำนวนครั้งที่ต้องมาโรงพยาบาล 2. การปรับวิธีการให้ยาให้สะดวกทั้งแพทย์และพยาบาลเพื่อลดเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด และ 3. การปรับการดูแลผู้ป่วยนอก ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษาและรักษามากขึ้น เช่น การทำเทเลเมดิซีน เป็นต้น
"แพทย์ต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วย และควรเปลี่ยนวิถีการรักษาจากการฉีดยาเข้าเส้นเลือด ซึ่งใช้เวลา 60 นาที เป็นการฉีดใต้ผิวหนัง เพียง 5 นาทีเท่านั้น เพื่อลดการอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน และทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุด ขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง อยากให้ทุกคนอย่าละเลยการมารักษาโรคมะเร็ง อย่ากลัวโควิด-19 จนไม่มาพบแพทย์”พญ.เอื้อมแข กล่าว
ทั้งนี้ ในแง่ของการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะมีการเจ็บตัว แต่การฉีดใต้ผิวหนังนั้นจะใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างจากการให้เคมีบำบัดแบบปกติ คือมีหัวเข็มที่เล็กกว่า ซึ่งช่วยในเรื่องของความคล่องตัวระหว่างการให้ยา และยังช่วยลดความเจ็บปวด รวมไปถึงการลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้หลอดเลือดดำด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในเมืองไทย และตอบรับกับมาตรการเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยได้เป็นอย่างดีในยุคโควิด-19
“นพ.ชวลิต หล้าคำมี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่าในกลุ่มของผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น ยังมีความจำเป็นที่ต้องมาโรงพยาบาล เพราะต้องได้รับการรักษาด้วยยาต่อเนื่องตามรอบ และการรักษาโดยฉีดยาใต้ผิวหนัง การให้ยากินแทนยาฉีด จึงเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยอยู่รพ.ในระยะเวลาน้อยที่สุด อีกทั้งประสิทธิผลของยากิน ยาฉีด หรือการฉีดใต้ผิวหนังมีผลในการรักษาเท่าเทียม
“เมื่อยังไม่มีวัคซีนในการรักษาโรคโควิด-19 แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อยากฝากผู้ป่วยทุกคนอย่ากลัวหรือกังวลกับการมาโรงพยาบาล ถ้าทุกคนต้องปฎิบัติตามวิถีชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเว้นระยะห่างทางสังคม สวมใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ก็จะไม่เกิดการแพร่ระบาดหรือติดโรคโควิด-19ทุกคนต้องช่วยกัน ”นพ.ชวลิต กล่าว
ในส่วนของต่างประเทศนั้น ได้มีแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง อย่าง ผู้ป่วยในสิงคโปร์สามารถเลือกรับการรักษาที่ศูนย์พยาบาลใกล้บ้านได้แล้ว โดยการก่อตั้งโครงการ NCIS-on-the-Go ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ นำทีมพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งออกให้บริการแก่ผู้ป่วยใกล้บ้าน เช่น การตรวจเลือด การให้ยา รวมถึงยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตามศูนย์ที่สาธารณสุขกำหนดไว้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดระยะเวลาการเดินทางมาโรงพยาบาล ในขณะที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่ากับการให้บริการภายในโรงพยาบาล
“ลี ซู ชิน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา จากสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ (NCIS) กล่าวว่าภาระของโรคมะเร็งในสิงคโปร์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอุบัติการณ์ที่มากขึ้นของมะเร็งบางชนิด การพัฒนาของการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถมีอายุที่ยืนยาวได้
โปรแกรม NCIS-on-the-Go ที่เกิดขึ้นเป็นการสนองต่อกลยุทธ์การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความยั่งยืนของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ โดยมีแผนที่จะเพิ่มสถานที่และขยายตัวเลือกการรักษาในอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
“การดูแลรักษาโรคมะเร็งต้องเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบาย โปรแกรม NCIS-on-the-Go นอกจากส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย โดยการให้บริการแก่ผู้ป่วยใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถไปรับบริการที่ศูนย์พยาบาลใกล้บ้านของโปรแกรม NCIS-on-the-Go ได้ เพิ่มความคล่องตัวในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ครอบคลุมและทั่วถึง”ลี ซู ชิน กล่าว
ทุกการใช้ชีวิต ทุกการรักษาอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สำหรับการรักษาโรคมะเร็งนั้น ขณะนี้มายาบางชนิดที่จะช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง แทนการฉีดเข้าสู่หลอดเลือดใหญ่ อีกทั้งได้มีนวัตกรรมที่จะช่วยให้คนไข้สะดวก และเข้าถึงยาได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่สำหรับคนไทยและผู้คนทั่วโลก โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาดังกล่าวได้