วัดใจ ‘โตเกียว 2020’ สู่โอลิมปิกยั่งยืน 

วัดใจ ‘โตเกียว 2020’ สู่โอลิมปิกยั่งยืน 

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 จำเป็นต้องเลื่อนออกไป เพราะการระบาดของโควิด-19 นั่นหมายความว่า งานที่จะจัดปีหน้าจะเล็กลงและเรียบง่ายขึ้น แต่คำถามก็คือจะ “ยั่งยืน” และช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วยจริงหรือ

ผู้จัดกล่าวว่า การแข่งขันจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดยั่งยืน พร้อมอวดว่า มีโครงการริเริ่มหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการใช้เหรียญรางวัลที่มาจากการรีไซเคิลเหรียญเก่า ไปจนถึงการใช้ไฮโดรเจนจุดคบเพลิงโอลิมปิก

แต่นักสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญยังตำหนิผู้จัดงานว่า ไม่มุ่งมั่นพอที่จะใช้โอกาสเลื่อนจัดงานตั้งเป้าให้สูงขึ้น งานถูกเลื่อนออกไป 1 ปี น่าจะสร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกีฬาโลกให้ดีขึ้นได้

มาซาโกะ โคนิชิ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนสัตว์ป่าโลกเพื่อธรรมชาติ ที่ช่วยให้คำแนะนำแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ผู้จัดงาน เผยว่า นโยบายจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบหลายตัวไม่ว่าจะเป็นปลา ไม้ กระดาษ น้ำมันปาล์ม ล้วนมีช่องโหว่ทั้งสิ้น

เธอได้แต่หวังว่าการเลื่อนโอลิมปิกออกไปจะเป็นการให้โอกาสผู้จัดงานทำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโอลิมปิกดีขึ้น

”แต่พวกเขาไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย” โคนิชิกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมกล่าวหาว่าผู้จัดงานให้ความสำคัญกับธุรกิจมากกว่า

“มีการแต่งตั้งคนจากสมาคมธุรกิจเข้ามานั่งเป็นกรรมการพิเศษมากมาย คนพวกนี้จริงๆ แล้วอยากหลีกเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมาตรฐานสูงขึ้น" โคนิชิกล่าว

เจ้าหน้าที่จัดแข่งขันโตเกียว 2020 ยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของที่จะมาใช้ในการแข่งขัน และในรายงานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของการแข่งขันฉบับล่าสุดตีพิมพ์เมื่อปลายเดือน เม.ย. เจ้าหน้าที่โต้แย้งว่า แหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน “ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับญี่ปุ่น” รายงานดังกล่าวยังระบุ “การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดในครั้งเดียว”

ฮิเดมิ โตมิตะ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวขาญเรื่องความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพูดถึงเรื่องความยั่งยืน ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากในญี่ปุ่น ประเทศเริ่มพูดถึงเรื่องนี้ช้ามาก คำมั่นที่โตเกียว 2020 ให้ไว้อาจมองได้ว่าก้าวหน้าแล้ว แต่ก็ยังถือว่า “น่าผิดหวังเล็กน้อย”

“พวกเขาน่าจะขยับมาตรฐานได้สูงกว่านี้ ซึ่งถ้าทำได้ จะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้บริษัทญี่ปุ่นทำตามได้"

หนึ่งในแผนหลักด้านความยั่งยืนคือการใช้ไม้จากพื้นที่ป่าที่มีการจัดการที่ยั่งยืน ไม้ส่วนหนึ่งจะถูกนำกลับไปใช้ใหม่หลังจบงาน

แต่ผู้จัดงานก็ยอมรับว่า พวกเขาใช้ไม้จากแหล่งอื่นๆ ด้วย อย่างไม้จากมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนัก

ผู้จัดโตเกียว 2020 กล่าวว่า ไม้ทุกชิ้นซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่นักสิ่งแวดล้อมโต้แย้งว่า ไม้เหล่านั้นยังขาดการรับรองและการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้

อิซาโอะ ซากากุชิ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกากุชิอุน ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า การจัดซื้อปลามาทำอาหารเสิร์ฟในโอลิมปิกก็สำคัญ

ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปลาและการประมงที่ยั่งยืน ซากากุชิกล่าวว่า ธุรกิจท้องถิ่นวิ่งเต้นอย่างหนักให้ผ่อนคลายกฎระเบียบ

“ชาวประมงและนักการเมืองในญี่ปุ่นเกรงว่า หากโตเกียว 2020 รับเอามาตรฐานการจัดหาแบบเดียวกับที่ลอนดอน ริโอเดอจาเนโร ก็อาจไม่มีอาหารทะเลญี่ปุ่นมาใช้ทำเมนูโอลิมปิกได้เลย" ด้วยเหตุนี้ผู้จัดจึงยอมรับให้ไม่ต้องมีใบรับรองและการตรวจพิสูจน์ การตัดสินใจแบบนี้จึงไม่ส่งผลอะไรเลย นอกจากภาพลักษณ์เสียหาย

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานโต้กลับข้อวิพากษ์เหล่านี้จากบรรดานักสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่า แนวคิดและมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ยั่งยืนเป็นเรื่องในระยะยาวมากกว่าแค่ในเกม โดยการทิ้งตำนานในการจัดการแข่งขันที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ให้ได้พูดถึง

“นั่นอาจช่วยสร้างภาพลักษณ์ของการพยายามใส่แนวคิดเรื่องมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการจัดการแข่งขันโอลิปิกแต่ธุรกิจท้องถิ่นในญี่ปุ่นจะเคารพกฎระเบียบนี้ต่อหลังเกมจบมั้ยบางทีอาจจะไม่” ยูกิ อาราตะ ผู้ดูแลโครงการสิ่งแวดล้อมโตเกียว 2020 ให้ความเห็น