จับตา! ชงคดี 'บอส อยู่วิทยา' เข้าที่ประชุม กก.ปฎิรูปยุติธรรม
“ทนายสงกาญ์” เตรียมชงคดี “บอส อยู่วิทยา” เข้าที่ประชุมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เผยผลกระทบความเชื่อมั่นศรัทธาองค์กร ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องออกมาชี้แจงตอบข้อสงสัยสังคม
ที่บริเวณหน้าศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วานนี้ (27 กรกฎาคม) นายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า กรณีแบบนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นศรัทธาองค์กร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมจะนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมวันที่ 10 ส.ค. 2563 อำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือตอบสังคมในประเด็นต่างๆ ได้
นายสงกาญ์ กล่าวว่า เรื่องนี้หลายคนสงสัยคดีล่าช้า การร้องขอความเป็นธรรมมีเฉพาะบอสหรือไม่ ต้องบอกว่าคดีอาญาทุกคดีประชาชนที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาสามารถยื่นร้องขอความเป็นธรรมได้ ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ว่าไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา เพื่อให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง เรื่องนี้อัยการตกเป็นเป้ากระสุนตก จริงๆ แล้วการรวบรวมพยานหลักฐานตำรวจเป็นคนเริ่มต้น เมื่อตำรวจได้รับแจ้งจากอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว น่าจะเอามาบอกกับสังคมได้ เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ หลังอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้องแล้ว ตำรวจมีหน้าที่นำคำสั่งไม่ฟ้องแจ้งไปยังทายาทผู้ตายให้ทราบ พร้อมแนบเอกสารพยานหลักฐานทั้งหมด และแจ้งสิทธิให้ทายาทผู้ตายว่าสามารถนำไปฟ้องต่อศาลได้
นายสงกาญ์ บอกอีกว่า ส่วนประเด็นต่างๆ ที่สังคมสงสัย มีการออกหมายเรียก 7-9 ครั้ง จริงหรือไม่ ปกติออกหมายเรียก 2 ครั้ง ไม่มาออกหมายจับเลย กฎหมาย ป.วิ.อาญา บอกไว้บุคคลใดน่าจะกระทำความผิดกฎหมายอาญา อัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปีขึ้นไป ออกหมายจับได้เลย จะสอดคล้องกับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี สิ่งเหล่านี้สังคมสงสัย แต่ถ้าตอบให้เคลียร์ได้ก็หมดประเด็น เราไม่ตำหนิตำรวจอัยการไม่ดี แต่อยากให้ชี้แจง ทายาทออกมาชี้แจงก็ได้ ส่วนการที่ทายาทผู้ต้องหาไปเยียวยาทายาทผู้ตายแล้วนั้น ไม่จบเพราะเป็นความผิดยอมความไม่ได้ เป็นเหตุบรรเทาโทษได้เฉยๆ
นายสงกาญ์ ระบุด้วยว่า หลายส่วนสามารถช่วยกันได้ กระบวนการยุติธรรมชี้แจงให้ประชาชนคลายข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น แม้แต่พยานที่มาใหม่ 2 ปาก ผ่านมา 7 ปี เพิ่งนึกได้ ส่วนตัวก็ไม่เคยเจอ ถามหลายคนก็ไม่เคยเจอ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงเอามาสอบก็ได้ ถ้าชี้แจงแล้วเข้าใจยิ่งดีกว่า ยิ่งนานวันมีผลกระทบโดยรวม กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธา ทั้งนี้ เรากำลังรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนสงสัย เสนอที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ 15 คนพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปฯ คือเสนอความเห็น ควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร จะได้ศึกษาร่วมกัน