พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรีไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรีไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์โปรดฟังการบรรเลง - ขับร้องดนตรีไทย ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปจะมิค่อยทราบ 

หากแต่เป็นที่ประจักษ์ด้วยการที่พระองค์ทรงขับร้องเพลงลาวดวงเดือนได้ และเป็นเพลงโปรดของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล บรรยายถึงพระปรีชาสามารถของทูลกระหม่อมทั้ง 3 พระองค์ ไว้ว่า

ในการเลี้ยงต้อนรับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จ กลับจากศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย วันนั้นตรงกับวันดนตรีไทยอุดมศึกษาที่เชียงใหม่ จะหานักดนตรีไม่ได้เพราะนักเรียนและครูต่างก็ขึ้นไปเชียงใหม่กันหมด ต้องตามนักเรียนนายเรือมาบรรเลงแทน มี ครูยรรยง แดงกูร คุมวงนักเรียนมา และผู้เขียน (นพ. พูนพิศก็ถูกตามตัวเข้าไปช่วยกระทันหัน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์จะทรงฟังเพลงลาวดวงเดือนซึ่งเป็นเพลงที่โปรดมากรับสั่งกับสมเด็จพระบรมฯ ว่า

ชายร้องเพลงลาวดวงเดือนให้แม่ฟังหน่อย ร้องแบบที่แม่ชอบนะ แม่น้อยบรรเลงเพลงเข้า แล้วให้น้องเล็กฟ้อนด้วยนะ 

ผู้เขียนนั่งอยู่หน้าวงดนตรีได้ยินชัดทุกองค์ที่รับสั่งสมเด็จพระบรม เสด็จ มาประทับหน้าวงดนตรีรับสั่งเบา ว่า

คอยบอกเนื้อร้องด้วย จำได้ไม่หมด เนื้อยาวตั้งหลายท่อน

ทรงร้องสองเที่ยวกลับ ตามแบบกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ขนานแท้ ... โดยสมเด็จพระบรม ทรงขับร้อง สมเด็จพระเทพรัตน (พระอิสริยยศในขณะนั้นทรงซออู้ ทุกคนเงียบกริบ ทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบร้อย น่ารักน่าชมเหลือที่จะบรรยายได้ จบแล้วมีเสียงปรบมือกราวใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้า รับสั่งว่า

ต่อไปแม่ไม่ต้องจ้างใครมาร้องมารำละครให้ดูอีกแล้วมีลูกสามคนเท่านั้น ร้องรำบรรเลงเสร็จ

นอกจากนี้ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ดุริยางคศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เข้าไปถวายการบรรเลง - ขับร้องทุกวัน ในช่วงเวลาค่ำ หรือหลังจากว่างพระราชกรณียกิจและบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตามเสด็จพระราชดำเนิน ในกรณีที่เสด็จแปรพระราชฐานไปทรงตรวจเยี่ยมประชาชน ดุริยางคศิลปินที่ได้ถวายงาน ให้สัมภาษณ์ว่า 

บางครั้งพระองค์มีพระราชประสงค์ให้ร้องเพลงที่พระองค์ทรงจำเนื้อร้องได้ 

ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงร้องทำนองเพลงให้นักดนตรีที่ถวายงานการบรรเลงฟังในวันนั้น นายพัฒน์ บัวทั่ง และนายไชยยะ ทางมีศรี ดุริยางคศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากรได้อยู่ถวายงาน จึงนำทำนองเพลงที่พระองค์ร้องให้ฟังมาเรียบเรียงเป็นเพลงอัตรา 3 ชั้น ใช้หน้าทับสองไม้ และนำบรรเลงถวายในเวลาต่อมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อเพลงนี้ว่า เพลงประวัติศาสตร์

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก นิทรรศการและการแสดงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 จัดโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม