"3 เหตุการณ์เสี่ยง" ทำไทยโควิด-19ระบาดระลอก 2
เผย 3 เหตุการณ์เสี่ยงจะทำไทยโควิด-19กลับมาระบาดระลอก 2 กำชับผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศต้องให้กักตัวครบ 14 วันในพื้นที่จุดนำเข้า เชื่อมั่นไม่มีบริษัทอยากถููกตราหน้าว่านำเชื้อเข้า ย้ำทั่วโลกอัตราป่วยตาย-ความรุนแรงโรคไม่ได้ต่ำ
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หลังเข้ารับการฝึกทหารที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,298 ราย หายป่วยแล้ว 3,111 ราย อยู่ระหว่างรักษาพยาบาล 129 คน เสียชีวิตสะสม 58 ราย ซึ่งผู้ป่วยในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว 20-49 ปี ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยค่อนข้างต่ำ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยดีขึ้นตามลำดับ จากที่เริ่มพบผู้ป่วยช่วงต้นเดือน ม.ค.และพบป่วยเป็นกลุ่มก้อนช่วงเดือนมี.ค.หลังจากนั้นไทยจึงใช้มาตรการทางสังคมและสาธารณสุข ทำให้ไทยพบมีสถานการณ์ดีขึ้น และพบผู้ป่วยในประเทศรายล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นไทยก็พบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สถานการณ์ของไทยจึงค่อนข้างดี แต่ไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงในประเทศจะเป็นศูนย์ ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยในต่างประเทศในแต่ละวันพบผู้ป่วยประมาณ 2- 2.5 แสนราย ดังนั้น 4-5 วัน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วย 1ล้านคน เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราการป่วยตายของโรคนี้จะลดลง เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงไปเร็วกว่าการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต ยอดผู้เสียชีวิตจึงยังตามหลังยอดผู้ป่วยอยู่โดยอีก 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือนจึงจะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิต
“จากเหตุการณ์ในหลายประเทศที่กลับมาพบผู้ป่วยอีกครั้ง เป็นสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่ายังมีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยในประเทศอยู่เสมอ ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจ ซึ่งเป้าหมายของการดำเนินการไม่ใช่การไม่เจอในผู้ป่วยในประเทศเลยแต่เป้าหมายคือถ้าเจอต้องจำกัดวงของการแพร่ระบาดไม่ให้วงกว้าง ในส่วนของภาครัฐมีการเตรียมการเต็มที่ เพื่อให้จำกัดวงแพร่ระบาดไม่ให้กว้าง และตอบโต้สถานการณ์ได้ทันท่วงที่ ซึ่งจะมีการเพิ่มหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติอต่อเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด ให้สามารถสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสได้โดยเร็ว สำหรับระดับบุคลลจะต้องคงมาตรการป้องกันไว้เช่นเดิมทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงสถานที่คนรวมกลุ่ม ส่วนระดับองค์กรก็เช่นเดียวกันต้องคงมาตรการไว้”นพ.ธนรักษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุการณ์หรือจุดช่องโหว่ที่อาจจะทำให้ประเทศไทยกลับมาระบาดระลอก 2 นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มีการประเมินถึง 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1.ยังมีผู้ป่วยเหลืออยู่ในประเทศ อย่างประเทศจีนก็คิดว่าเกิดขึ้นจากที่มีผู้ป่วยหลังเหลือในประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็มีความเป็นไปได้ 2.คนเดินทางมาจากต่างประเทศ แม้จะมีระบบเฝ้าระวังในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ แต่ก็อาจจะมีโอกาสหลุดไม่มาก และ3.ผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งน่ากลัวมาก แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามเต็มที่จะเข้มงวด แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้ 100 % โดยเฉพาะการเข้ามาทางด่านธรรมชาติต่างๆ
ต่อข้อถามการดำเนินการกรณีการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศได้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สถานประกอบการที่แจ้งความประสงค์นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาต้องบริหารจัดการในการจัดหาสถานที่กักตัว 14 วันให้กับแรงงาน ซึ่งจะต้องอยู่ในพื้นที่ตั้งของด่านที่แรงงานเข้ามา จะต้องไม่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ก่อนครบกำหนด คล้ายกับสถานที่กักกันทางเลือก ซึ่งจะมีระบบประเมินก่อนและตรวจสอบระหว่างการกักตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การให้สถานประกอบการดำเนินการเอง จะมีความรัดกุม นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ประกอบการณ์ที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเข้าใจสถานการณ์ของโรค คงจะไม่มีบริษัทไหนต้องการที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนเอาเชื้อเข้ามาในประเทศ หรือพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของด่านบกต่างๆ ก็คงไม่ต้องการให้เกิดโรคแพร่ระบาดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ แต่ละพื้นที่เองก็จะต้องเตรียมพร้อมกรณีหากมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ขึ้นด้วย
“เรามีมาตรการป้องกันโรคให้องค์กรต่างๆดำเนินการอยู่แล้ว อยากขอร้องและขอความร่วมมือให้ทุกคนทำได้ตามมาตรฐาน และถ้าเกิดเหตุการณ์ระบาดขึ้นในจุดใด ก็จะไม่โครมครามปิดสถานที่ต่างๆอีก แต่เป้าหมาของการคุมโรคไม่ได้ไม่มีผู้ป่วยในประเทศเลย แต่หากมีก็ไม่มาก ให้สามารถจัดการได้ ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายต้องรักษามาตรการป้องกันโรคของตัวเอง ไม่ถอยกลับไปสู่Old Normal เพื่อไม่ให้เพิ่มความเสี่ยงของการระบาด”นพ.ธนรักษ์ กล่าว