กรมธุรกิจฯ หั่นเป้ายอดใช้น้ำมันปี63 ติดลบ 8.7% ต่ำสุดประวัติการณ์
กรมธุรกิจพลังงาน หั่นเป้ายอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี63 ติดลบ 8.7% ต่ำเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจีดีพี ธปท. ติดลบ 8.1% เหตุโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจ ขณะที่ น้ำมันเจท ลดลง 43% เล็งชง รมว.พลังงานคนใหม่ เคาะแผนส่งเสริม อี20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นนฐานเบนซิน
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ปรับลดคาดการณ์ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันทั้งปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค.) อยู่ที่ 143.59 ล้านลิตร ลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2562 เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 157.33 ล้านลิตร จากเดิมคาดการณ์ว่า จะเติบโต 2-3% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หากเทียบกับวิกฤตในอดีต เช่นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ยอดการใช้น้ำมันลดลงประมาณ 0.4% โดยการปรับลดคาการณ์ยอดการใช้น้ำมันฯในครั้งนี้ เป็นไปตามสมมติฐาน คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ(GDP) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่คาดว่า จะติดลบ 8.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกหยุดชะงักลง
สำหรับการการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในครึ่งหลังปี 2563 (ก.ค.-ธ.ค.) พบว่า ยอดการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล อยู่ที่67.66 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 65.6 ล้านลิตรต่อวัน ที่ลดลง 4.9% เนื่องจากเป็นน้ำมันหลักที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน อยู่ที่ 31.18 ล้านลิตรต่อวัน ลดลด 3.1% เทียบกับครึ่งปีแรก อยู่ที่ 29.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 7.6%
โดยเฉพาะการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์(Jet) อยู่ที่ 10.93 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 43.5% ลดลง เทียบกับครึ่งปีแรก อยู่ที่ 9.9 ล้านลิตรต่อวัน 49.5% เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงมาตรการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.63 และคาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ปรับลดเป้าหมายยอดการใช้ ดีเซล บี10 สิ้นปีนี้ เหลืออยู่ที่ 50 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน จาก มิ.ย.63 อยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงทำให้ยอดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลดลงไปด้วย แต่ในวันที่ 1 ต.ค.63 กรมฯ ยังคงมาตรการกำหนดให้ทุกสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน ทั่วประเทศ ต้องเปลี่ยนป้ายหัวจ่ายน้ำมัน ดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซล ตามมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี10 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานดีเซล และเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนในการเติมน้ำมัน
นอกจากนี้ พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการปิดปั๊มน้ำมัน 200 แห่ง เทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยสถานีบริการเชื้อเพลิงสิ้นไตรมาส2 รวมทุกประเภทอยู่ที่ 29,156 แห่ง
นางสาวนันธิกา กล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯ รอนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พิจารณานโยบายส่งเสริมใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มเบนซิน ซึ่งตามแผนเดิมตั้งเป้าหมายจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ดังนั้น จะต้องรอนโยบายอีกครั้ง โดยหากได้รับความเห็นชอบแล้ว กรมฯ คาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการประมาณ 9 เดือน ซึ่งช่วง 3 เดือนแรก จะเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้ อี20 ผ่านกลไกราคา จากนั้น 3-6 เดือน จะบังคับให้โรงกลั่นน้ำมันฯ หยุดผลิตแก๊สโซฮอล์ 91 แล้วเปลี่ยนมาผลิต อี20 แทน และเดือนที่ 9 จะประกาศให้ อี20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซิน
รวมถึง จะเสนอให้พิจารณาแผนขยายผลการนำบล็อกเชนมาให้ซื้อขาย น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (บี 100) ต่อหรือไม่ หลังจากที่ได้ทดลองรับซื้อกับ 3 โรงงานผู้ผลิตบี 100 ระหว่างวันที่ 15-19 ก.ค. 63 ซึ่งใช้ราคาบี 100 อยู่ที่ 23.16 บาทต่อลิตร สามารถซื้อผลปาล์มดิบได้ที่ 3.20-3.60 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคาประกาศของกรมการค้าภายใน ที่ 2.70-3.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณาต่อไป
ส่วนการประกาศบังคับใช้น้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 นั้น ได้แจ้งให้ 6 โรงกลั่นน้ำมันฯ รับทราบมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.63 ซึ่งยังคงประกาศใช้ตามเดิมคือ 1 ม.ค.67 ดังนั้น กรมฯจะพยายามเร่งรัดให้ 3 โรงกลั่นน้ำมันฯ ที่คาดว่าจะมีความล่าช้าในการลงทุน เร่งดำเนินการให้เสร็จตามนโยบาย โดยวงเงินลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดังกล่าวนั้น อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท