กรมประมง ออกข้อบังคับซื้อขายสัตว์น้ำต้องมีใบรับรอง

กรมประมง ออกข้อบังคับซื้อขายสัตว์น้ำต้องมีใบรับรอง

กรมประมง นำร่องทดลองระบบโปรแกรมประยุกต์การออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ 1ปี บังคับทุกรายซื้อขายต้องมีใบรับรองฝ่าฝืนโทษหนักปรับ1ล้านบาท

นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ออกประกาศ เรื่อง การจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ สำหรับกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เมื่อวันที่ 8 มิ. ย. 2563 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 91 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในการกำหนดให้ ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) อาทิ แพรับซื้อกุ้ง ผู้รวบรวมสัตว์น้ำ สถานแปรรูปเบื้องต้น สถานประกอบการห้องเย็น โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ และผู้ส่งออกกุ้งทะเลที่ประสงค์จะขายหรือส่งมอบกุ้งทะเลแก่บุคคลอื่น จะต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับมอบกุ้งทะเล ผ่านระบบโปรแกรมประยุกต์การออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Aquatic Animal Purchasing Document: APD) ทางเว็บไซด์ http://apd.fisheries.go.th

ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการฯ ในการออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ และสืบค้นแหล่งที่มาของกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อีกทั้งเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ให้ได้คุณภาพ ป้องกันอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องของสารตกค้างในสินค้ากุ้งทะเล สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าในเรื่องระบบ Traceability ของประเทศไทย

159610680911

นายถาวร  กล่าวว่า  สำหรับการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการฯเนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน กรมประมงได้ใช้หนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำและลูกพันธุ์สัตว์น้ำ (MD/FMD) เพื่อเป็นหลักฐานในการสืบค้น แต่เนื่องจากประกาศกรมประมงฉบับดังกล่าวได้ออกไป จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการจัดทำหนังสือกำกับฯ จากเดิมผู้ออกหนังสือกำกับฯ ให้แก่เกษตรกรคือเจ้าหน้าที่กรมประมง หรือกลุ่มองค์กรที่ได้รับการประกาศรับรองให้ออกหนังสือกำกับฯ ปรับเปลี่ยนเป็นให้เกษตรกรและผู้ประกอบการฯ สามารถจัดทำหนังสือกำกับฯ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบบ Real-time ทำให้โปรแกรมประยุกต์การออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ APD สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของกุ้งทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการฯ สามารถจัดทำหนังสือกำกับฯ ผ่านระบบดังกล่าวได้ในพื้นที่ของตนเอง

อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการใช้กระดาษ เนื่องจากสามารถส่งข้อมูลการซื้อขายกุ้งทะเลในรูปแบบของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเกษตรกรไม่ต้องกังวลในเรื่องของความยุ่งยากในการใช้ระบบฯ เนื่องจากกรมประมงได้มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา ซึ่งท่านสามารถยื่นคำขอทดลองใช้ระบบฯ ได้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 และจะเปิดระบบให้สามารถทดลองใช้งาน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2563 – 1 ก.ย. 2564

 

 

นายถาวาร กล่าวว่า   หลังจากพ้นระยะเวลาช่วงทดลองระบบ 1 ปี ประกาศกรมประมงจะมีผลใช้บังคับ หากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) ท่านใดที่ไม่จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ ในทุกครั้งที่มีการซื้อขายหรือส่งมอบกุ้งทะเล หรือจัดทำเอกสาร หรือกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ จะมีความผิดตามมาตรา 156 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 1,000,000 บาท หรือหากนำหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ (MD/FMD) ที่กลุ่มองค์กรเอกชนหรือบุคคลที่ได้รับการประกาศรับรองฯ ฝ่าฝืนออกให้ไปใช้ประกอบการซื้อขายกุ้งทะเลให้แก่บุคคลอื่น จะมีความผิดตามมาตรา 268 ประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มองค์กรเอกชนหรือบุคคลที่ได้รับการประกาศรับรองให้ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ (MD/FMD) จะถูกระงับ มิให้ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำและลูกพันธุ์สัตว์น้ำ (MD/FMD) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 265 ประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท

ทั้งนี้ กรมประมงได้มีการจัดประชุมชี้แจงกับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการประมงฯ เกี่ยวกับประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้งานระบบโปรแกรมประยุกต์การออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (APD) ไปเมื่อวันที่ 20 – 22 ก. ค. 2563 ผ่านระบบ Video conference (Zoom) ซึ่งเป็นการประชุมทำความเข้าใจร่วมกัน โดยหากท่านใดต้องการรับชมคลิปวีดีโอสอนใช้งานระบบ (APD) สามารถรับชมได้ที่ http://apd.fisheries.go.th/ และสามารถสอบถามได้ที่หน่วยงานกรมประมงในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานประมงจังหวัด หรือสถานที่ที่ประมงจังหวัดประกาศกำหนด หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ภายใต้สังกัดกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จำนวน 17 ศูนย์ฯ หรือติดต่อได้ที่ กลุ่มวิจัยการจัดระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง