ตั้งสมัชชาพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล 5
เดินหน้าตั้งสมัชชาพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล 5 เน้นการส่งเสริมให้ประชาชนประกอบสัมมาชีพ พร้อมอุดช่องว่างในการทำงานระหว่างคณะสงฆ์กับชาวบ้าน
วันนี้ (30 ก.ค.)ที่วัดไร่ขิง จ.นครปฐม พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นประธานเปิดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 นับว่าเป็นโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยช่วงแรกที่ดำเนินงานโครงการเชิงปริมาณ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 42 ล้านคน
ขณะที่ปัจจุบันเป็นการดำเนินงานเชิงคุณภาพโดยจะเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนประกอบสัมมาชีพเป็นหลัก และพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยดำเนินงาน
พระเทพศาสนาภิบาล (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง รองเจ้าคณะจ.นครปฐม ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 กล่าวว่า พระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นการดำเนินงานตามโครงการเครือข่ายพระสงฆ์เฝ้าระวังสื่อชวนเชื่อทางศาสนา ดำเนินงานภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยความเห็นชอบของมส. รับผิดชอบโดย วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ส่วนกลาง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.พัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้เป็นพระสงฆ์ผู้นำนักสื่อสารสร้างสันติแก่สังคม ขับเคลื่อนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในเชิงพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม 2.เพื่อพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้มีความรู้ มีทักษะเชิงกระบวนการถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้นำขับเคลื่อนศีล 5 สู่การป้องกันภัยร้ายจากข่าวปลอม และข่าวชวนเชื่อทางศาสนา อันเนื่องมาจากการละเมิดศีลข้อมุสาวาท
3.เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยมีเป้าหมายพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 จำนวน 708รูป ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2563
พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รองผอ.ฝ่ายบริหาร วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการดำเนินการจัดตั้งสมัชชาพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 เพื่อเป็นเครือข่ายในการทำงานศีล 5 และจะได้มีรูปแบบในการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน มีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน เน้นการทำงานแนวราบ อุดช่องว่างในการทำงานระหว่างคณะสงฆ์กับชาวบ้าน และที่สำคัญจะทำให้เกิดเป็นธรรมนูญในการดำเนินงานด้านศีล 5 เชื่อว่าการมีสมัชชาฯ จะทำให้การทำงานหมู่บ้านรักษาศีล 5 เข้มแข็งมากขึ้น