‘พริมามารีน’ คว้างานแหลมฉบัง หนุนกำไรโต-เบิกทางรับงานก่อสร้าง
“ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3” เป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยตั้งเป้าจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี รองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี พร้อมติดตั้งระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีน
สำหรับการพัฒนาในระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งจะมีการถมทะเลพื้นที่ 1,600 ไร่ มูลค่าโครงการ 84,361 ล้านบาท โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 53,490 ล้านบาท และเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP net cost ในส่วนของการออกแบบ ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาโครงการมูลค่า 30,871 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
ซึ่งปรากฎว่ามีผู้สนใจเข้ามาชิงดำเพียงแค่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่าง 2 เอกชนยักษ์ใหญ่ของไทย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT พร้อมด้วยพันธมิตรจากจีน “ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง” ซึ่งสุดท้ายแล้วคว้างานนี้ไปได้
เนื่องจากคู่แข่งกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด และ “ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น” ถูกตัดสิทธิ์
แม้ว่าจะพลาดในส่วนของงานออกแบบและบำรุงรักษาโครงการ แต่กลุ่มเอ็นพีซียังจับมือกันเหนียวแน่น และในที่สุดก็คว้างานถมทะเลเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือจาก กทท. มาได้สำเร็จ โดยรอบนี้จับมือกันมา 3 ราย ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี
นำทีมโดย บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM ที่ส่งบริษัทลูก บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด มาชิงชัย ร่วมกับพันธมิตรสำคัญ บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน)
โดยเสนอราคามา 21,320 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่ กทท. ตั้งไว้ที่ 21,957 ล้านบาท คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญากันอย่างเป็นทางการภายใน 1 เดือนนับจากนี้ และจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ภายในปลายไตรมาส 3 นี้ ซึ่งตามกำหนดการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี นับจากวันที่เซ็นสัญญา
ถือเป็นข่าวดีหนุนให้หุ้น PRM ยืนบวกสวนกระดานที่ถูกถล่มขายอย่างหนักไปได้ โดยวานนี้ (30 ก.ค.) ปิดการซื้อขายที่ 9.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาท หรือ 6.25% เพราะแสดงให้เห็นถึงความพยายามจนคว้างานมาได้สำเร็จ ช่วยเติมงานในมือเพิ่มจากธุรกิจหลักของบริษัท
โดยหากพิจารณาจากโครงสร้างการถือหุ้น บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด เป็นบริษัทลูกที่ PRM ถือหุ้น 100% และ มีสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มกิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี 10% ดังนั้น หากคิดจากมูลค่างานที่ได้มา 21,320 ล้านบาท จะเป็นของกลุ่ม PRM ราว 2.1 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ตลอด 4 ปี และยังถือเป็นใบเบิกทางชิ้นสำคัญให้กับ PRM และพันธมิตรในการเข้ารับงานรับเหมาก่อสร้างในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
เรียกว่านอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจเดินเรือซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวไปตามภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน และปัจจัยต่างๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบได้ตลอดเวลา
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การชนะประมูลงานท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของกลุ่ม PRM และพันธมิตรถือเป็นปัจจัยบวกเล็กๆ ให้กับบริษัท ทั้งนี้ หากประเมินว่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวมี net margin ราว 5% จะคิดเป็นกำไรของกลุ่ม PRM ตามสัดส่วนการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ทยอยรับรู้ไป 4 ปี
ขณะที่ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรของบริษัทในปี 2563-2564 ไว้ที่ 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% และ 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ตามลำดับ เท่ากับว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้นจากงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังอยู่ที่ปีละ 2% เท่านั้น