BioVis เพิ่มทรัพย์จากขยะอินทรีย์
ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากชุมชนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณมากถึง 27.37 ล้านตัน หรือ 74,998 ตันต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีขยะมูลฝอยชุมชนปริมาณมากถึง 7.17 ล้านตัน หรือ 19,656 ตันต่อวัน (ร้อยละ 26) ที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง
“ขยะอินทรีย์” ซึ่งจัดเป็นขยะส่วนใหญ่ของขยะทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นขยะที่ย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ ฯลฯ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นอาหารสัตว์หรือนำไปทำปุ๋ยหมัก แต่เนื่องจากเป็นขยะที่มีมูลค่าต่ำ ทำให้ภาคครัวเรือนไม่มีแรงจูงใจในการแยก ส่งผลให้ขยะอินทรีย์ยังคงโดนทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น มีการจัดการที่ไม่ถูกต้องจากการฝังรวม เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการฝังกลบแบบไม่ถูกต้องสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
จากปัญหาดังกล่าว นำมาซึ่งการวิจัย โครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” (C-ROS : Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash) โดย ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ร่วมกับทีมวิจัยและนิสิตจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งใช้เทคโนโลยี C-ROS แพลตฟอร์มเทคโนโลยีชีวภาพแบบบูรณาการ สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายของรัฐบาล
มุ่งสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมไร้ขยะ” ที่สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ขยะเศษอาหารจากเทศบาลชุมชนและครัวเรือนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการสร้างรากฐานสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น หัวหน้าสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระบุว่า ทีมวิจัยเชื่อว่าระบบการจัดการขยะที่ยั่งยืนจะต้องเริ่มจากการแยกขยะ และต้องมีเทคโนโลยีที่สร้างขยะให้มีรายได้กลับคืนมา ขณะเดียวกัน ขยะที่มีมูลค่าต่ำที่สุด และสร้างปัญหาที่สุดในกระบวนการจัดการ คือ ขยะอินทรีย์ ซึ่งมีส่วนทำให้ขยะที่มีมูลค่าบางชนิด เช่น พลาสติก ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากมีขยะอินทรีย์เน่าเสียอยู่ข้างใน การที่ไม่แยกจากต้นทาง จะทำให้ลำบากในการจัดการ หัวใจของเราคือทำให้ขยะอินทรีย์เป็นขยะที่มีมูลค่า พอกลายเป็นของที่มีมูลค่าคนก็ต้องอยากแยก
ดังนั้น แนวคิดของ C-ROS คือ สร้างเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สารชีวพันธุ์ ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยล่าสุด ทีมวิจัยได้ออกผลิตภัณฑ์ พร้อมใช้งานและจัดจำหน่ายเป็นตัวแรก ได้แก่ สารบำรุงพืชชีวภาพ BioVis ที่ผ่านกระบวนการย่อยแบบไฮเทค มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับพืช ปลอดภัย ไร้สารพิษ โดยเริ่มต้นจากการนำเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานภายในโรงอาหารของ VISTEC มาผลิต ถือเป็นการจัดการขยะภายในองค์กร
สำหรับกระบวนการผลิต ใช้จุลินทรีย์ตามธรรมชาติในการย่อยขยะเศษอาหาร ไม่มีการเติมสารเคมีลงในผลิตภัณฑ์ ทำให้ BioVis เป็นสารบำรุงพืชที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยจัดการกับปัญหาขยะเศษอาหารได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ BioVis มีคุณสมบัติช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี สมบูรณ์ แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำ และช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดิน อีกทั้ง ยังช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นธาตุอาหารทั้งหลักและรองแก่พืช ช่วยสร้างฮอร์โมนให้แก่พืช กระตุ้นการเกิดราก เมื่อพืชขยายระบบรากได้ดี จะสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยชีวภาพยังป้องกันไม่ให้รากเป็นแผลอันเกิดจากการใช้สารเคมีในปริมาณมากอีกด้วย
“สิ่งที่เราต้องการให้เกิดสัมฤทธิ์ผล คือ อยากจะให้ประเทศไทยทุกภาคส่วน ช่วยกันแยกขยะ เพราะเราเชื่อว่า การจัดการขยะที่ยั่งยืน คือ การแยกขยะจากต้นทาง” ศ. ดร.พิมพ์ใจ กล่าวทิ้งท้าย
จาก น่าน Zerowaste สู่ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่า
โครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์ หรือ C-ROS” เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) , ธนาคารกสิกรไทย , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และ ดำเนินการวิจัยโดยสถาบันวิจัยหลักที่เป็นแกนนำ ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมวิจัย C-ROS ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรมากกว่า 20 คน
ต่อยอดจากโครงการ “น่าน Zerowaste” เมื่อปี 2561 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกสิกรไทย ในการลงชุมชนบ้านมหาโพธิ วัดอรัญญาวาส และโรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ จ.น่าน ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในด้านการรณรงค์การแยกขยะและการใช้พลังงานทางเลือกในระดับชุมชน โดยทีมวิจัยได้นำระบบหมักก๊าซชีวภาพที่ใช้หัว เชื้อจุลินทรีย์ BioVis ไปใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพและปุ๋ยชีวภาพจากขยะ เศษอาหาร สามารถผลิตก๊าซมีเทนในปริมาณความเข้มข้นสูงถึงร้อยละ 70-80 เมื่อเติมเศษอาหารลงไปในถังหมัก เชื้อจุลินทรีย์จะใช้เวลา 4-7 วัน ในการย่อยสลายเศษอาหารและเริ่มแปลงเป็นก๊าซมีเทนในความเข้มข้น 50-60% และเมื่อปล่อยให้ย่อยเศษอาหารต่อไปอีกประมาณ 7-10 วัน จะได้ก๊าซมีเทนที่ความเข้มข้นเพิ่มขึ้นมากถึง 70-80%