ชี้ช่องสอบ 'รองอัยการสูงสุด' สั่งคดีบอส อยู่วิทยา

ชี้ช่องสอบ 'รองอัยการสูงสุด' สั่งคดีบอส อยู่วิทยา

ประธาน ก.อ. ยันกระบวนการตรวจสอบปมสั่งคดี "บอส อยู่วิทยา" เชื่อถือได้ ชี้ช่องจุดสำคัญต้องพิสูจน์การใช้ดุลพินิจ "รองอัยการสูงสุด" ยันหากพบผิดพลาด ต้องตั้งกรรมการสอบวินัย

ความคืบหน้าการตรวจสอบกรณี "อัยการ" มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา คดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. ให้สัมภาษณ์เครือเนชั่น ว่า ตนในฐานะประธาน ก.อ. ได้ทำหนังสือส่งถึงอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 เพื่อให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อได้ว่าคณะทำงานชุดนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจนเป็นที่กระจ่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

     

โดยมีข้อเสนอดังนี้

1. ระบุว่าสำนักงานอัยการสูงสุด ควรตรวจสอบการดำเนินคดี สำนวนคดีดังกล่าวทุกขั้นตอน ทั้งอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายและหลักนิติธรรมโดยให้แล้วเสร็จ เร็วที่สุด

2. ระหว่างดำเนินการตามข้อ 1 ควรมีกลไกที่เหมาะสม อธิบายทำความเข้าใจสาธารณชนทุกระยะเพื่อป้องกันการสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง และ3.ควรแถลงผลการตรวจสอบตามข้อ 1 พร้อมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดเท่าที่จะเปิดเผยได้ เพื่อให้สังคมคลายความข้องใจ ถึงการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการ รวมทั้งการแก้ไขทันที ในกรณีหากพบปัญหา หรือข้อคลาดเคลื่อน ในขั้นตอนใดเกี่ยวกับการสั่งคดี

สำหรับกระบวนการตรวจสอบการสั่งคดีของรองอัยการสูงสุด ที่ถูกสังคมตั้งคำถาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้ดุลพินิจว่า มีความรอบคอบรัดกุมมากพอหรือไม่ หากไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม ทำให้การสั่งคดีเกิดความเสียหาย ก็ต้องถือว่ามีความผิด ส่วนจะผิดระดับไหน ก็ค่อยว่ากันเมื่อผลออกมา

อีกทั้งคณะทำงานฯ จะต้องตรวจสอบย้อนไปถึงกระบวนการ การยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาด้วย เพราะแม้จะเป็นการร้องเข้ามาตามกระบวนการ ขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องตรวจสอบว่า พยานหลักฐานที่นำมาร้องนั้น เป็นอย่างไร และกระบวนการพิจารณาคำร้องของ “สำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด” ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ก่อนสรุปเสนอส่งให้รองอัยการสูงสุดมีคำสั่งนั้น สอดคล้องกัน หรือขัดกับ “คำสั่งไม่ฟ้อง” ของรองอัยการสูงสุด

หากคณะทำงานฯ สรุปว่ามีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง ขั้นตอนหลังจากนั้น อัยการสูงสุดก็จะส่งเรื่องให้ ก.อ.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป ยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นอำนาจของ ก.อ. ถือเป็นระบบที่เชื่อถือได้ โดยที่ผ่านมาก็เคยมีการสอบสวนลงโทษข้าราชการอัยการที่กระทำผิดวินัย ทุจริตหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมอยู่ตลอด แม้แต่ระดับอัยการจังหวัดก็เคยถูกสอบวินัยจนถูกไล่ออก และดำเนินคดีอาญา โดยยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน จนต้องเข้าคุกมาแล้ว

ทันตแพทย์ยันเลิกใช้โคเคนรักษาฟัน

ส่วนกรณีที่ตำรวจเจ้าของสำนวนคดีชี้แจงต่อกมธ.ตำรวจฯ สภาผู้แทนราษฎร ถึงสาเหตุที่ไม่แจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งที่ผลตรวจร่างกายนายวรยุทธ พบโคเคนอยู่ในร่างกาย พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา แถลงว่า ในอดีตอาจจะเคยใช้โคเคนในวงการทันตกรรมเพื่อให้เกิดอาการชา แต่ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคนในการทำฟันแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงกับสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีการพัฒนายาชาซึ่ง เป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ คือ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน เป็นต้น

ส่วนโคเคนจะมีฤทธิ์อยู่ในร่างกายคนนานเท่าไหร่ หากมีการใช้เพื่อรักษาฟันจริง เรื่องนี้ไม่สามารถระบุได้ เพราะมีการใช้ในปริมาณน้อยมากและใช้เฉพาะจุด แต่โดยปกติตัวยาชาจะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่การตรวจสอบทันตแพทย์ที่ทำฟันให้นายวรยุทธ ขณะนี้ตำรวจยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์มีการใช้โคเคนรักษาฟันทางทันตกรรมมีในอดีตมากกว่า 100 ปี แต่นับตั้งแต่มีการพัฒนายาชาตัวอื่นขึ้นมาก็ไม่มีการใช้อีกเลยในทางทันตกรรม

“เมพิวาเคน”รักษาไม่ใช่โคเคน

ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล กรรมการทันตแพทยสภา อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้ทันตแพทย์ที่ให้การรักษานายวรยุทธ ได้ติดต่อเป็นการส่วนตัวกับกรรมการทันตแพทยสภาท่านหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันแต่อย่างใด ส่วนจะมีการเชิญทันตแพทย์รายดังกล่าวมาให้ข้อมูลที่ทันตแพทยสภาหรือไม่นั้น ต้องรอให้เจ้าตัวพร้อม และเตรียมข้อมูลการรักษา เท่าทีจำได้ คือ ยืนยันว่าไม่ได้ใช้โคเคน ซึ่งก็สงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนบอกว่า มีการใช้สารโคเคน

เช่นเดียวกับทพ.สัณห์ชัย จิรชาญชัย ประชาสัมพันธ์ทันตแพทยสภา กล่าวว่าทันตแพทยสภาจะมีการให้ข้อมูลเรื่องนี้ในวันที่ 31 ก.ค. กระทั่งเพื่อนตนโทรศัพท์มาหาแล้วบอกว่าเป็นทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธ ในตอนนั้น และเห็นข่าวแล้วไม่สบายใจที่มีข่าวว่าทันตแพทย์ใช้โคเคนในการรักษา ซึ่งตอนนั้นทันตแพทย์ท่านนั้นก็ไม่ได้ใช้โคเคนในการรักษา เพราะเป็นหัตถการเล็กๆ เหงือกอักเสบ ได้มีการใช้ยาชาชื่อ “เมพิวาเคน” ซึ่งเป็นยาชาปกติที่ทันตแพทย์ใช้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับโคเคน

“จากที่คุยกันกับทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธตอนนี้ รู้สึกไม่สบายใจ ค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมข่าวถึงออกมาเป็นแบบนี้ได้ ในเมื่อเขาให้ข้อมูลกับทางตำรวจแล้วว่ามีการใช้ยาเมพิวาเคน ไม่ได้ใช้โคเคน แต่ข่าวออกมาแบบนี้ได้อย่างไร ” ทพ.สัณห์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ดีสำหรับยาชาที่ทันตแพทย์ใช้ จะออกฤทธิ์ไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง ไม่มีการตกค้างในร่างกาย ไม่สามารถตรวจเจอ และใช้ในปริมาณน้อยมาก

ตำรวจดิ้นเข้าใจคลาดเคลื่อน

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงชี้แจงภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธว่าประเด็นแรกได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพบสารที่เกี่ยวกับโคเคนหรือโคเคอีนซึ่งได้มีการตรวจเมื่อวันที่3ก.ย.2555ผลการตรวจออกมาวันที่11ต.ค.2555โดยแพทย์ผู้ตรวจยืนยันว่าสารที่ตรวจพบเกิดจากกระบวนการสลายตัวของสารที่เกี่ยวกับโคเคอีนกับแอลกอฮอล์ โดยไม่มีการพบโคเคนโดยตรงตามรายงานของสาขานิติเวชวิทยาภาควิชาพยาธิวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี

นอกจากนี้ได้มีการสอบถามไปที่นิติเวชตำรวจด้วยสารที่ตรวจพบทั้งหมดมีอยู่4ประกอบด้วย1.สารอัลฟาโซแลมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ ทางการแพทย์อาจจะเรียกว่ายานอนหลับ 2.เบนโซอิลเอคโกนีน 3.โคเคแอคทีลีน และ4.คาเฟอีนเป็นสารที่อยู่ในกาแฟซึ่งจะมีปัญหาอยู่ที่สารตัวที่2และ3ซึ่งเป็นผลของการย่อยสลายที่ทางการแพทย์บอกว่ามาจากโคเคนหรือโคเคอีน

สิ่งที่เป็นประเด็นคือสารตัวที่2และ3ถ้าเราพบตัวนี้ก็แสดงว่าเราเสพโคเคอีนแต่จากการยืนยันของผู้ต้องหาได้บอกว่าได้มีการไปหาทันตแพทย์และหมอมีการให้ยาตัวที่หมอให้มาเป็นยาแอมม็อกซิลิน500มิลิกรัมและหมอยืนยันในบันทึกคำให้การอย่างชัดเจนว่า ไม่มียาเสพติดยืนยันว่ายาที่หมอให้นายบอสไม่มีสารเสพติด

ส่วนที่มีการนำเรื่องนี้ไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการชุดใหญ่และมีการเปิดเผยข้อมูลว่าสารโคเคนดังกล่าวเกิดจากการรักษาฟันนั้นเชื่อว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและข้อมูลดังกล่าวมีการตรวจสอบยืนยันเป็นเอกสารชัดเจน หลังจากนี้จะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหาข้อสรุป ส่วนการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทองหนึ่งในพยานปากสำคัญยืนยันว่าไม่มีผลต่อการทำงานของชุดพนักงานสอบสวนครั้งนี้

น้องประวิตรชี้หลังส่งมติทุกอย่างจบ

วันเดียวกัน พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตประธานกมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า จากการแถลงข่าวของ นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขานุการกรรมาธิการ การกฎหมายฯ ชี้แจงเกี่ยวกับขึ้นตอนการทำงานของคณะกรรมาธิการในการพิจารณาศึกษา การร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธนั้น ปรากฏว่ามีสื่อยังลงข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน ยืนยันว่า ผู้ร้องได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด ด้วยเหตุว่า อัยการไม่รับฟังข้อเท็จจริง ดังนั้นในวันที่ 4 พ.ค.2559 ผู้ร้องได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อและวันที่ 16 ธ.ค.2559 ได้มีมติให้ส่งรายงานการพิจารณาศึกษาไปยังอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ โดย

“จากนั้นกมธ.ก็ไม่ทราบการดำเนินการของพนักงานอัยการ จนวันที่ 15 ก.พ. 2561 อธิบดีอัยการสำนักงนอัยการกรุงเทพใต้ มีหนังสือแจ้งมายังกมธ. ว่าอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม” พล.ร.อ.ศิษฐวัชร กล่าว