เตือน 'ยุติธรรมค้ำจุนชาติ' ชี้ปมความผิดฐานกระทำโดยประมาท
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ในฐานะนักกฎหมาย และมากประสบการณ์ใน 3 เสาประชาธิปไตย ตั้งแต่ ตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร
ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับคดีดัง ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ในหัวข้อ "ยุติธรรมค้ำจุนชาติ” ที่ว่าด้วย “ความเร็วกับความผิด”
โดยยกวลี “ยุติธรรมค้ำจุนชาติ” หน้าอาคารกระทรวงยุติธรรมแห่งใหม่ ที่เขาออกแบบด้วยตัวเอง และยกวลีนี้ไปติดไว้ที่หน้ามุขของอาคารกระทรวง เพื่อเตือนใจข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรม และอธิบายความว่า คำว่า “ยุติธรรมค้ำจุนชาติ”กลับมาดังก้องอีกครั้งในวันนี้ ในวันที่มีข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการ และการเด้งรับลูกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสั่งไม่ฟ้องคดีขับรถชนตำรวจตายเมื่อ พ.ศ.2555
หากปล่อยให้ปัญหานี้ขยายตัวบานปลายไปเรื่อยๆ นอกจากอาจจะทำให้ระบบยุติธรรมที่เป็นเสาค้ำจุนประเทศต้องล่มสลายลง ประชาชนสิ้นศรัทธาและความเชื่อถือระบบยุติธรรมของประเทศแล้ว ยังจะทำให้เกิดกระแสการแบ่งแยกชนชั้น ที่จะทวีความรุนแรงทั้งทางความคิดและการกระทำ จนอาจบานปลายและถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากผู้ไม่หวังดีได้โดยง่าย
“การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด พยายามลดกระแส เพียงแค่ตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบเรื่องนี้แบบของใครของมัน ช่วยอะไรไม่ได้มากเพราะความน่าเชื่อถือล้มละลายไปหมดแล้ว เชื่อกันว่าเป็นเพียงการหาทางออกที่จะสร้างความชอบธรรมให้การกระทำที่เป็นปัญหา ยิ่งได้ฟังถ้อยแถลงของผู้เกี่ยวข้องแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่าอย่าไปคาดหวังอะไรมาก เพราะฟังประเด็นที่ตั้งสอบ ก็รู้คำตอบล่วงหน้าแล้ว แต่ยังมีความหวังจากคณะทำงานที่ท่านนายกฯ แต่งตั้งขึ้นมาบ้าง ก็รอดูกันต่อไป”
นอกจากนี้ อดีต รมว.ยุติธรรม ยังแสดงความคิดเห็นในฐานะคนในวงการยุติธรรม ตามหลักวิชาการ ถึง ประเด็นต่างๆ ในคดีนี้ว่า "ประเด็นหนึ่งที่สังคมกำลังถูกทำให้สับสน คือเรื่องความเร็วของรถกับความผิดฐานกระทำโดยประมาท กรณีที่เป็นปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ต้องเถียงกันเรื่องความเร็วของรถ แต่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทตามกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดอาญาที่เกิดจากการขับรถโดยประมาท ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเร็วเสมอไป และไม่จำเป็นว่าจะต้องขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดเท่านั้น จึงจะมีความผิด แต่ไม่ว่าจะขับรถด้วยความเร็วต่ำหรือด้วยความเร็วสูงกว่า 100 กม.ต่อชั่วโมงก็ไม่ใช่องค์ประกอบหลักของความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย"
กฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสี่ บัญญัติว่า “กระทำโดยประมาท ได้แก่การกระทำผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
จากหลักกฎหมายนี้ จะเห็นว่าถ้ามี “เจตนา” ก็ไม่ผิดฐานประมาท แต่จะผิดฐานประมาทต้อง 1) ไม่มีเจตนา แต่ 2) กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
มาตรา 291 บัญญัติต่อไปว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ฯลฯ
ประเด็นคือ แม้จะขับรถด้วยความเร็วต่ำหรือด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดแต่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุชนคนตายก็มีความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ หากมีพยานหลักฐานว่าผู้นั้นขับรถโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่แล้ว ก็ย่อมมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291ได้เสมอ
ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่กรณีจะมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็นและไม่ใช่เหตุที่จะนำมาลบล้างความผิดที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของผู้นั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้ที่ถูกชนตายจะมีส่วนประมาทด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดโดยประมาทไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษทางอาญา หากแต่เป็นเพียงเหตุลดหย่อนความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น ส่วนทางอาญานั้นอย่างมากก็เป็นเพียงเหตุให้ศาลลงโทษน้อยลงได้บ้างก็เท่านั้น แต่ไม่ใช่เหตุที่จะสั่งไม่ฟ้องผู้กระทำผิดในฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามกฎหมายอาญา มาตรา 291 ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ความเร็วของรถก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่จะเป็นหลักฐานของความประมาทได้
คดีนี้รถที่ผู้กระทำผิดขับขี่ในขณะเกิดเหตุ คือ รถสปอร์ตเฟอรารี่ ซึ่งเป็นรถประเภทรถแข่งที่มีความเร็วและอัตราเร่งสูง การขับขี่รถประเภทนี้ไปในเมืองหรือทางสาธารณะตามวิสัยและพฤติการณ์แล้วจะต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งกว่าการขับรถยนต์ปกติทั่วไป โดยเฉพาะขับขี่บนถนนสาธารณะในเวลากลางคืนที่มองอะไรไม่ค่อยถนัดแล้ว
แต่เมื่อดูจากคลิปวงจรปิด จะเห็นว่าผู้กระทำผิดขับรถมาด้วยความเร็วสูง เห็นได้จากเมื่อเทียบกับความเร็วของรถยนต์คันอื่นๆ ที่เป็นรถปกติทั่วไปที่แล่นผ่านพื้นที่เดียวกัน หลังเกิดเหตุรถของผู้กระทำผิดลากตัวตำรวจที่ถูกชนไปกว่า 200 เมตร ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้กระทำผิดต้องวิ่งมาด้วยความเร็วสูง มิฉะนั้นคงไม่สามารถลากตัวผู้ตายไปได้ไกลเช่นนั้น
เมื่อดูจากสภาพความเสียหายของรถของผู้กระทำผิดกับสภาพที่มีน้ำมันไหลตลอดทาง แสดงว่ารถของผู้กระทำผิดได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งน่าจะเกิดจากการชนอย่างแรง ดังนั้น ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะขับรถมาด้วยความเร็วเท่าใดก็ตาม แต่ต้องไม่ใช่ความเร็วปกติตามวิสัยและพฤติการณ์ของการขับรถในเมืองหรือในทางสาธารณะในเวลากลางคืนแน่นอน
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดการใช้ความระมัดระวังที่ผู้กระทำผิดอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ตามองค์ประกอบความผิดของกฎหมายอาญา มาตรา 291 แล้ว
นี่ยังไม่นับรวมถึงผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานที่พบสารเสพติดในร่างกายของผู้กระทำผิดด้วยซ้ำ
ดังนั้นเมื่อผู้กระทำผิดขับรถคันดังกล่าวไปชนตำรวจที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์อยู่ข้างหน้า หลังจากผ่านจุดที่บันทึกคลิปวงจรปิดได้ไม่นาน ก็ถือได้แล้วว่ามีมูลเพียงพอที่จะเชื่อได้ในเบื้องต้นว่าเป็นการขับรถที่ขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว ส่วนผู้กระทำผิดจะแก้ตัวว่าอย่างไรหรือมีพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลประการใดก็เป็นเรื่องที่ต้องนำไปพิสูจน์ไปว่ากันในชั้นศาล
การที่มีพยานที่เพิ่งระลึกชาติได้หลังเหตุการณ์ผ่านไป 8 ปี มาบอกว่าตนอยู่ในเหตุการณ์ และเห็นว่าผู้กระทำผิดขับรถไม่เร็วนั้น นอกจากจะเป็นพยานบอกเล่า เพราะนอกจากการแสดงตนหลังเหตุการณ์ผ่านไป 8 ปี ที่ไม่ใช่พฤติการณ์ปกติของพลเมืองดี แต่กลับมีพิรุธน่าสงสัยอีกหลายประการ จึงต้องรับฟังพยานปากนี้ด้วยความเคร่งครัด รอบคอบ และระมัดระวัง
อีกทั้งไม่มีหลักฐานอะไรที่ยืนยันได้แน่ชัดว่าพยานผู้นั้นอยู่ตรงจุดเกิดเหตุจริง ยังมีข้อสงสัยอีกมากมายเกี่ยวกับพยานผู้นี้ เช่น เหตุใดพยานผู้นี้จึงไปอยู่ ณ จุดเกิดเหตุตามวันและในเวลาเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาดึกมากแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งจะมาแสดงตัวทั้งๆ ที่เป็นเรื่องโด่งดัง และหากพยานผู้นี้ขับรถตามหลังมาจริงอย่างที่เป็นข่าวจะต้องปรากฎรถของพยานผู้นี้ในคลิปกล้องวงจรปิด แต่ไม่ปรากฎว่าผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องแสดงได้ว่ารถคันไหนคือรถของพยานผู้นี้
คำบอกเล่าของพยานผู้นี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ในทางกฎหมายและในทางสอบสวนเลย
นอกจากนั้น การที่พยานผู้นี้จะมาช่วยบอกว่าผู้กระทำผิดขับรถไม่เร็วก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาพิสูจน์หรือลบล้างพยานหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นถึงการขาด “ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นแล้ว” เพื่อให้หลุดพ้นจากบทสันนิษฐานและองค์ประกอบความผิดของกฎหมายว่ากระทำโดยประมาทได้
ดังนั้น การที่ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดโดยอ้างพยานผู้นี้ นอกจากจะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและเรื่องความรับผิดในการกระทำโดยประมาทแล้ว ยังเป็นการล้มล้างเสาแห่งความยุติธรรมที่ค้ำจุนชาติในความเชื่อของประชาชนอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย และยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ผู้กระทำผิดอื่นในอนาคตจะใช้เป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดตามกฎหมายโดยอ้างว่าแม้เกิดอุบัติเหตุมีคนบาดเจ็บหรือล้มตายแต่ไม่มีความผิดเพราะตน “ขับรถด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด” เช่นเดียวกับคดีนี้ เช่นนี้แล้วจะถูกต้องหรือไม่ และสังคมจะอยู่กันต่อไปได้อย่างไร
หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการในคดีนี้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความเร็ว” และเป็นจุดเน้นหลักของคดีนี้จริงๆ แล้ว ความผิดในคดีนี้จะเปลี่ยนไปทันที ตามที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าการกระทำโดยประมาทคือการกระทำที่ไม่มีเจตนา หากมีเจตนาแล้วก็ไม่ใช่การกระทำโดยประมาทและไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 291
หัวใจของการกระทำผิดอาญาจริงๆแล้ว คือ “เจตนา”
การกระทำโดยเจตนาตามกฎหมายอาญามี 2 ประเภท คือ 1) เจตนาประสงค์ต่อผล และ 2) เจตนาย่อมเล็งเห็นผล
เจตนาประสงค์ต่อผล คือ การที่ผู้กระทำผิดมีความตั้งใจที่จะลงมือกระทำให้เกิดผลร้ายเช่นนั้น ส่วนเจตนาย่อมเล็งเห็นผล คือการที่ผู้กระทำผิดแม้ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้เกิดผลร้ายจากการกระทำ แต่เล็งเห็นหรือคาดการณ์ได้ว่า หากกระทำเช่นนั้นแล้วจะเกิดผลร้ายเช่นนั้นได้ และหากในที่สุดเกิดผลร้ายขึ้นมาจริงๆ แล้ว กฎหมายถือว่ามีเจตนากระทำผิดไม่ใช่กระทำโดยประมาท
การขับขี่รถสปอร์ตเฟอรารี่ ที่เป็นรถประเภทรถแข่งที่มีความเร็วและอัตราเร่งสูงไปในเมืองหรือทางสาธารณะในเวลากลางคืนที่แสงสว่างต่างจากเวลากลางวันด้วยความเร็วสูงกว่า 100 กม.ต่อชั่วโมง หรือเกือบ 170 กม.ต่อชั่วโมง ย่อมถือได้ว่า ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นหรือคาดการณ์ได้ว่าอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอาจมีคนได้รับผลร้ายถึงขั้นบาดเจ็บหรือล้มตายได้
แต่หากผู้นั้นยังขับรถต่อไปด้วยความเร็วสูง จนเกิดอุบัติเหตุชนตำรวจถึงแก่ความตาย เช่นนี้ ต้องถือว่าผู้นั้นมี “เจตนาย่อมเล็งเห็นผล“ ทำให้กลายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 288 โทษถึงประหารชีวิต มิใช่ความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามกฎหมายอาญา มาตรา 291 ที่มีโทษเพียงจำคุกไม่เกินสิบปี
"ลองคิดกันดูนะครับว่าความเร็วกับความผิดในกรณีแบบนี้จะเข้าเงื่อนไขข้อไหน ถ้าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 288 ก็ถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยฟ้องเลยนะครับ
อดีต รมว.ยุติธรรม ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า จะมาว่ากันในประเด็นอื่นต่อไป...