Yield Curve Control นโยบายการเงินที่ต้องจับตามอง
ไม่เพียงแต่นโยบายการเงิน QE เช่น การเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือตราสารทางการเงินต่างๆ เพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและการเงิน ที่ธนาคารกลางบางแห่งได้นำมาใช้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ยังมีอีกเครื่องมือหนึ่งคือ Yield Curve Control ที่น่าจับตามอง
ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงวิกฤติโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่ธนาคารกลางบางแห่งได้นำเครื่องมือนโยบายการเงินรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาใช้ ได้แก่ การเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือตราสารทางการเงินต่างๆ เพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ คิวอี (Quantitative Easing; QE)
แต่ยังมีเครื่องมือนโยบายการเงินที่อาจจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield Curve Control (YCC) หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรการ YCC มาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีสองธนาคารกลางที่ได้ใช้มาตรการ YCC ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2559 และธนาคารกลางออสเตรเลียเริ่มใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2563
การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield Curve Control (YCC) เป็นเครื่องมือนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางต้องการที่จะควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือยาว ด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเป้าหมาย
แล้วทำการซื้อหรือขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจและประชาชนกู้เงินเอื้อต่อการลงทุนและการบริโภค นำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
มาตรการ YCC และ QE เป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกัน คือ YCC ธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามที่ระบุไว้เพื่อให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในช่วงอายุที่กำหนดไว้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยปริมาณเงินที่ใช้ซื้อจะมากหรือน้อยแล้วแต่สภาวะตลาด แต่ QE ธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณที่ระบุไว้ในเวลาที่กำหนด
นั่นหมายความว่า งบดุลของธนาคารกลางจะเพิ่มขึ้นตามที่ระบุ แต่ YCC งบดุลของธนาคารกลางอาจจะไม่เพิ่มขึ้นเท่ากับการใช้ QE ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารกลางในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
ดั่งที่อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในการแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามที่ได้ประกาศไว้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบาย ในส่วนของ YCC หากนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้มีความเชื่อมั่นจะทำการซื้อขายให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอยู่ในระดับไม่เกินเป้าหมายของธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมากเกินไปเพื่อรักษาให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ
ยกตัวอย่าง ธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2559 เฉลี่ยปีละประมาณ 55.6 ล้านล้านเยน แต่หลังจากที่ประกาศใช้มาตรการ YCC ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลลดลงเฉลี่ย 23.6 ล้านล้านเยนต่อปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2562
ความเสี่ยงของ YCC คือ การส่งผ่านนโยบายอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพราะการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบการเงินในลักษณะ Bank-Based ที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งภาคเอกชนและภาคครัวเรือนจะกู้เงินโดยอิงกับดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น MLR, MOR, MRR เป็นต้น ที่ไม่ได้อิงกับผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยงในการลงทุน (Risk Free rate)
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงคือเมื่อใช้ YCC แล้ว แต่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยทำนโยบายขาดดุลการคลัง ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้มากขึ้น อาจส่งผลต่อเนื่องให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นและกระทบต่อการรักษาวินัยทางการคลัง ในที่สุดอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับการนำ QE มาใช้
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้จากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนจึงลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงจากการลงทุน ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวสูงขึ้นเกินมูลค่าพื้นฐาน
ดูเหมือนว่า YCC อาจเป็นเครื่องมือทางการเงินใหม่ที่นิยมใช้หลังจากที่ดอกเบี้ยปรับลดลงมาจนต่ำแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าธนาคารกลางใดบ้างจะนำ YCC มาใช้ แต่ที่แน่ๆ คือ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะเวลาหนึ่ง
ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องเตรียมแผนการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากสภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหรือหลักทรัพย์ประเภทที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนในรูปกระแสเงินสดสม่ำเสมอในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ได้แก่ ตราสารหนี้ หุ้นปันผล และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยต้องศึกษาปัจจัยพื้นฐาน สภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาดก่อนและหลังการลงทุนทุกครั้ง ซึ่งการกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหลากหลายประเภทที่แตกต่างกันจะช่วยลดความเสี่ยงในช่วงที่มีความผันผวนสูง