ธุรกิจ 'ติดล็อก' กำลังซื้อ อั้นสภาพคล่องได้แค่ไหน
วิกฤติโควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลายไปแล้วก็จริง แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างยังคงบอบช้ำ แม้รัฐพยายามกระตุ้นกำลังซื้อ แต่การจับจ่ายก็ยังคงเงียบเหงา ซึ่งเป็นไปพร้อมๆ กับภาคเรียลเซ็กเตอร์ที่ขณะนี้เริ่มอยู่ในภาวะสุดอั้นด้านสภาพคล่อง
แม้สถานการณ์การระบาดของโควิดในไทยจะคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นเวลานาน ทว่าการล็อกดาวน์ หรือปิดประเทศที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ต้องยอมรับว่าได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยบางสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ มีโอกาสติดลบกว่า 10% สอดคล้องกับผลสำรวจ 100 ซีอีโอ ของกรุงเทพธุรกิจ ที่ซีอีโอ สัดส่วนมากที่สุด 34.7% ระบุว่าจีดีพีไทย ในปีนี้มีโอกาสติดลบ 10%
สาเหตุที่จีดีพีไทยมีโอกาสติดลบด้วยตัวเลขสองหลัก แม้ว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐจะคลายล็อกดาวน์ธุรกิจลงเกือบทั้งหมดแล้ว น่าจะเป็นผลจากการะบาดของโควิดทั่วโลก ที่ยังไม่คลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญ โดยในบางประเทศยังพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในบางประเทศเกิดการระบาดในระลอกสอง ดังนั้นแม้สถานการณ์โควิดในไทยจะคลี่คลาย แต่ก็แทบจะไร้ความหมาย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไปผูกโยงกับรายได้จากต่างประเทศ ทั้งในภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยว รวมกันกว่า 80% ของจีดีพี ตราบใดที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ก็ยากที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐดำเนินการในขณะนี้ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการท่องเที่ยวในประเทศ อาทิ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน ในสัดส่วน 40% ทว่ายังพบว่า สัดส่วนการใช้สิทธิ์ไม่มากอย่างที่คิด จนล่าสุดมีแนวคิดจะขยายเวลาของมาตรการออกไปจาก ต.ค.จนถึงสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกันการขยายเฟสสองของโครงการ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และวันธรรมดา พร้อมเพิ่มสัดส่วนเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐจาก 40% เป็น 60% เป็นต้น
อีกภาคส่วนที่สะท้อนสถานการณ์กำลังซื้อในประเทศได้เป็นอย่างดี คือการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ช้อปปิ้ง ซึ่งประเมินบรรยากาศรู้เลยว่าค่อนข้างเงียบเหงา ต่างจากช่วงแรกของการคลายล็อกดาวน์ที่การใช้จ่ายมีโมเมนตัมดี แต่เมื่อพบว่าโควิดยังไม่จบง่ายๆการรัดเข็มขัดจึงเกิดขึ้นอีกรอบ
สอดคล้องกับข้อมูลของ เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ประเมินว่าดัชนีค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 ของไทยอยู่ในภาวะติดลบกว่า 10% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 40-50 ปี ทำลายสถิติการหดตัวที่รุนแรงสุดเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 สถานการณ์ดังกล่าวจึงกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจที่แท้จริง (เรียลเซ็กเตอร์) ที่ขณะนี้เริ่มอยู่ในภาวะ “สุดอั้น” ด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ขึ้นอยู่กับหน้าตักว่า “ใครจะอึดได้นานกว่ากัน” เพราะยังมองไม่เห็นรายได้ในอนาคตอย่างเป็นกอบเป็นกำ จากการติดล็อก “วิกฤติกำลังซื้อ” แล้วถ้าอึดไม่ไหวอะไรจะเกิดขึ้น ไม่อยากคิดต่อ