เปิดขุมทรัพย์ ‘กระทิงแดง’ VS ‘Redbull’ มรดกจาก เฉลียว อยู่วิทยา
เปิดขุมทรัพย์ของตระกูลอยู่วิทยา ระหว่าง "กระทิงแดง" ในเครือ TCP Group และ Red Bull อาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลังที่ร่วมหุ้นเจาะตลาดยุโรป
จากกรณีคดี “บอส อยู่วิทยา” หรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทตระกูลที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ที่ขับรถชนนายตำรวจจนถึงแก่ความตาย เรื่องราวของคดียืนระยะเวลาราว 7 ปี ล่าสุดอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติถอนหมายจับ ส่งผลให้เกิดความคลางแคลงสงสัยถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมถึงตั้งท่าจะ "แบน" ธุรกิจของตระกูล
ร้อนให้ครอบครัว “อยู่วิทยา” ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน ระบุว่า ไม่อาจปฏิเสธความสัมพันธ์ของการเป็น "อยู่วิทยา" คนหนึ่งของนายวรยุทธ และย้ำว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุ ครอบครัวของนายวรยุทธไม่ได้หารือหรือเล่าการตัดสินใจใดๆ ให้กับพี่น้อง และครอบครัวอยู่วิทยาก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องที่ติดตามจากข่าว และไม่เคยออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
“แต่วันนี้กระแสทางลบที่กระทบกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีมากจนเกินกว่าจะแบกรับเหมือนทุกครั้งได้ ซึ่งพี่น้องทุกคนล้วนเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และยืนยันว่าพวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมาย พี่น้องทุกคนขอเรียกร้องให้คุณวรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจ ให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชนให้เร็วที่สุดและดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม
แถมก่อนหน้านี้ ครอบครัวอยู่วิทยาส่วนหนึ่ง ในนามของ "กลุ่มทีซีพี" ก็เคยออกแถลงการณ์มาแล้วฉบับหนึ่ง เพื่อแจ้งว่า นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นหรือบริหารงานใดๆ ใน "กลุ่มทีซีพี" ซึ่งมีแบรนด์อันเป็นขุมทรัพย์หลักคือ "กระทิงแดง"
มาถึงตรงนี้ หลายคนเริ่มสงสัยว่าจริงๆ ธุรกิจกระทิงแดงของพี่น้องตระกูลอยู่วิทยา กับธุรกิจของ Red bull ของเฉลิม อยู่วิทยา พ่อบอส อยู่วิทยา ไม่เกี่ยวข้องกันหรือ?
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พาไขข้องใจ และเปิดอาณาจักรของเครือธุรกิจในตระกูล “อยู่วิทยา” ว่ามีอะไรบ้าง? มีมูลค่าเท่าไร และใครเป็นผู้ครอบครอง
ต้นกำเนิดของความยิ่งใหญ่ของตระกูล “อยู่วิทยา” เกิดขึ้นราว 64 ปีก่อน โดยการก่อตั้งของ “เฉลียว อยู่วิทยา” ปัจจุบันมีการแบ่งการบริหารงานของทั้งสองแบรนด์อย่างเด็ดขาด จากสองภรรยา โดยภรรยาคนแรก คือ นางนกเล็ก สดศรี ถือหุ้น Red Bull ซึ่งปัจจุบันนายเฉลิม อยู่วิทยา เป็นผู้บริหารหลัก และ ภรรยาคนที่ 2 นางภาวนา หลั่งธารา ถือหุ้นกระทิงแดงในประเทศไทย โดยปัจจุบันนายสราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นผู้บริหารหลัก
ซึ่งการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทจะดำเนินการแยกกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเจาะลึกไปที่ธุรกิจ “กระทิงแดง” ที่หลายคุ้นหูในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันผู้บริหารหลักคือ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นผู้บริหารหลัก โดยมีบริษัทในเครือรวมทั้งหมด 4 บริษัท โดยปี 2562 บริษัทโกยรายได้รวม 58,500.52 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,795.63 ล้านบาท ดังนี้
1.บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม ปี 2562 มีรายได้รวม 29,817.85 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,996.46 ล้านบาท
2.บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ทำประชาสัมพันธ์ จัดจำหน่ายและทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ มีรายได้รวม 10,861.30 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 402.68 ล้านบาท
3.บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด จัดจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุดกระป๋องและขวดผ่านตู้เครื่องดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ มีรายได้รวม 259.78 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 33.20 ล้านบาท
4.บริษัท เดอเบล จำกัด ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค กระจายสินค้า และคลังสินค้าระดับประเทศ มีรายได้รวม 17,561.59 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 429.69 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันในเครือมีผลิตภัณฑ์หลากลายประเภท คือ ประเภทเครื่องดื่มให้พลังงาน ได้แก่ แบรนด์กระทิงแดง เรดดี้ (Ready) โสมพลัส และ Warrior ประเภทเครื่องดื่มเกลือแร่ แบรนด์สปอนเซอร์ ประเภทเครื่องดื่มฟังชั่นนัล ได้แก่ แบรนด์แมนซั่ม (Mansome) และแมนซั่ม ฟรุตโซดา (Mansome Fruit Soda) ประเภทชาพร้อมดื่มและน้ำผลไม้ แบรนด์เพียวริคุ และริคุ และประเภทขนมคบเคี้ยว แบรนด์ซันสแนค
ขณะที่ "Red Bull GmbH" บริษัทที่นายเฉลียว อยู่วิทยา ร่วมทุนกับ “ดีทริช เมเทสซิทส์” นักธุรกิจชาวออสเตรียที่สนใจนำสินค้าเรดบูลไปรุกตลาดยุโรป โดยถือหุ้นในบริษัทนี้ราว 49% และเฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชื่อของนายเฉลิม อยู่วิทยา (ลูกชายของนายเฉลียว และเป็นพ่อของ บอส อยู่วิทยา)
Red Bull GmbH ที่ปัจจุบันมีนายเฉลิม เป็นผู้บริหารหลัก ปี 2562 โกยรายได้กว่า 222,476.89 ล้านบาท (เมื่อคิดในอัตราแลกเปลี่ยนยูโรละ 36.67 บาท ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563) ส่งสินค้าเจาะกลุ่มตลาด 171 ประเทศ
ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย Red Bull ทั้งหมด 7,500 ล้านกระป๋องทั่วโลก เมื่อเทียบกับยอดขายในปี 2561 ถือว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 10.4% ขณะที่รายได้ทั้งบริษัทนั้นมีรายได้สูงขึ้นราว 9.5% จากเดิม 5,541 ล้านยูโร หรือคิดเป็นประมาณ 203,188.47 ล้านบาท เป็น 6,067 ล้านยูโร หรือคิดเป็นประมาณ 222,476.89 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากยอดขายที่สูงขึ้นทั้งในตลาดอินเดีย 37% บราซิล 30% แอฟริกา 25% เยอรมนี 15% ออสเตรีย 12% ยุโรปตะวันออก 12% และสหรัฐ 9%
- ต้นกำเนิดความยิ่งใหญ่ในมือ “เฉลียว อยู่วิทยา”
ต้นกำเนิดของความยิ่งใหญ่ของตระกูล “อยู่วิทยา” เกิดขึ้นราว 64 ปีก่อน โดยการก่อตั้งของ “เฉลียว อยู่วิทยา” กับธุรกิจเริ่มต้นด้วยการเป็นเซลล์ขายยา ภายใต้บริษัท “หจก. ซี.ที.ฟาร์มาซูติคอล” ซึ่งได้คิดค้นสูตรยาของตัวเอง แต่เป็นการจ้างโรงงานผลิตยามาตรฐานประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตให้ และต่อมาก็ตั้งโรงงานผลิตยาของตัวเอง ภายใต้ชื่อ “บริษัท ซี.ที. มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด”
และด้วยการมองการตลาดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงดึงกลยุทธ์การโฆษณาในหลายๆ แพลตฟอร์ม ทั้งโรงภาพยนตร์ วิทยุ รถแท็กซี่ หนังกลางแปลง จนทำให้เป็นรู้จักอย่างกว้างขวาง
ขณะเดียวกันก็ขยายกลุ่มสินค้าประเทศต่างๆ อย่างเช่นสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงการมองเห็นโอกาสทางการตลาดของกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม จนกระทั่งพัฒนาเครื่องดื่มให้พลังงานออกสู่ตลาด แบรนด์แรกคือ “ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัพ” ภายใต้เครื่องหมายการค้ายกระทิงแดงคู่ ซึ่งนำไปสู่คำติดปากว่า เครื่องดื่มกระทิงแดง
การเติบโตของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้น เป็นไปพร้อมๆ กับการนำกลยุทธ์การตลาดมาใช้ ผ่านแคมเปญ “กระทิงแดง ซู่ซ่า ซู่ซ่า” ด้วยการจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม อีกทั้งยังคงทำใช้การโฆษณาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อการเติบโตในประเทศไทยเป็นไปอย่างดี “เฉลียว อยู่วิทยา” จึงมองหาโอกาสธุรกิจเครื่องดื่มในต่างประเทศ จึงส่งสินค้าไปตลาดทั้งในเอเชียและยุโรป จนปี 2521 ได้ก่อตั้ง “บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด” ขึ้น เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ สินค้าตัวแรกที่ส่งออกอยู่ภายใต้แบรนด์ “เรดบูล (Red Bull)” ซึ่งส่งออกไปยังสิงคโปร์
ต่อมา “เฉลียว” ได้ก่อตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ขึ้นที่ออสเตรีย โดยร่วมทุนกับ “ดีทริช เมเทสซิทส์” นักธุรกิจชาวออสเตรียที่สนใจนำสินค้าเรดบูลไปนรุกตลาดยุโรป
ที่มา : tcp, redbull, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า