'พีระพันธ์' โพสต์เดือด! ฟังอัยการแถลงแล้ว 'เหนื่อยใจ'

'พีระพันธ์' โพสต์เดือด! ฟังอัยการแถลงแล้ว 'เหนื่อยใจ'

"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" โพสต์เดือด! ฟังอัยการแถลงแล้ว "เหนื่อยใจ" ปมคดี "บอส อยู่วิทยา"

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.63  นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะอดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga ระบุว่า  

“ยุติธรรมค้ำจุนชาติ” ความยุติธรรม กับ ความอนาถใจ

ตั้งใจจะเขียนเรื่องพยานบอกเล่าและพยานที่เป็นความเห็นที่รับฟังไม่ได้ตามกฎหมาย และเรื่องทางออกของการถกเถียงเรื่องความเร็ว แต่ฟังการแถลงของอัยการเมื่อวานนี้แล้วเหนื่อยใจ เพราะประเด็นเยอะขึ้นทุกวันจนลำดับเรื่องไม่ถูกแล้วครับ

ไม่น่าเชื่อว่าคดีขับรถชนคนตายที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆเหมือนคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแทบทุกวันคดีนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อถือในระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพียงเพราะคดีนี้มีผู้กระทำผิดเป็นอภิมหาเศรษฐีไฮโซไม่ใช่ชาวบ้านร้านช่องเหมือนคดีอื่นๆ เท่านั้น มันคุ้มไหมครับกับสิ่งที่ทำๆ กันลงไป

ผมเคยพิจารณาพิพากษาคดีประเภทนี้มาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่เคยมีคดีใดเลยที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนและฟ้องคดีถูกสังคมตรวจสอบและโต้แย้งไม่เชื่อจนวุ่นวายเหมือนคดีนี้ บางครั้งแค่ฟังเสียงก็ไม่แน่ใจว่าฝ่ายไหนเป็นคนพูด ต้องหันไปดูภาพข่าวประกอบจึงทราบว่า อ้อ! ฝ่ายที่ต้องเป็นคนฟ้องคดีเป็นคนพูด ถ้ามองในแง่ดีไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ก็เห็นได้ว่ากระบวนการสอบสวนและการสั่งฟ้องคดีนี้ ล้มเหลว น่าสงสัย และสังคมไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว นี่ขนาดคดีง่ายๆ ธรรมดาๆ ยังเป็นแบบนี้ แล้วคดีใหญ่ๆ ซับซ้อนมากๆ จะเชื่อถือได้อย่างไร หากไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ก็คงต้องแก้กฎหมายให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนฟ้องร้องคดีต้องเข้ารับการอบรมกฎหมายทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นอย่างน้อย เพราะคดีนี้ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งทำงานยิ่ง....... จริงๆ นะ ถ้าผมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขเรื่องนี้เมื่อไร ผมทำแน่นอน!!!

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม “วันรพี” ที่เป็นวันระลึกถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ผมจำคำสอนที่ท่านทิ้งไว้ให้บรรดานักกฎหมายไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่อะไรได้อย่างขึ้นใจ ว่า

“เอ็งกินเหล้าเมายา ไม่ว่าหรอก แต่อย่าออกนอกทางให้เสียผล จงอย่ากินสินบาท คาดสินบน เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ”

หัวใจของคำสอนของพระองค์คือ ให้นักกฎหมายทั้งหลายตระหนักถึงเกียรติยศศักดิ์ศรียิ่งกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและสิ่งที่เรียกว่า “สินบน” ไม่รู้ว่าวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะมีคนใหญ่คนโตกี่คนในกระบวนการยุติธรรมที่กล้าปฏิญาณว่ายังยึดมั่นในคำสอนของพระองค์ไม่เสื่อมคลาย ผมเชื่อในประโยคที่ว่า “หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก”

เรื่องนี้ควรจะต้องถกเถียงกันในเรื่องพฤติการณ์แห่งคดีและสิ่งที่กฎหมายเรียกว่า “พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลจะใช้พิจารณาการกระทำของผู้กระทำผิดมากกว่าประเด็นเรื่องความเร็ว ว่าเข้าองค์ประกอบหลักของความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ มากกว่าทฤษฎีทางวิชาการเรื่องความเร็วที่ศาลถือว่าเป็นเพียง “ความเห็น” ซึ่งมีน้ำหนักในการพิสูจน์ความผิดในระดับท้ายๆ

แต่ดูแล้วเรื่องความเร็วนี้คงจะจบยาก ไม่รู้ว่าเป็นไปโดยธรรมชาติหรือมีคนไม่อยากให้จบ จะได้ไม่ต้องไปขุดคุ้ยเรื่องอื่นที่น่าสงสัยและควรจะตรวจสอบมากกว่า เช่น เหตุใดนายเนตร นาคสุข ในขณะสั่งฟ้องคดีเป็นเพียงอธิบดีอัยการธรรมดาจึงมาเกี่ยวข้องสั่งคดีนี้ได้ ทั้งๆ ที่เจ้าของสำนวนเดิมสั่งฟ้องไปแล้ว นายเนตรได้รับมอบอำนาจสั่งคดีมาจากใครตามกฎระเบียบใด มีอัยการท่านอื่นที่อาวุโสหรือมีตำแหน่งสูงกว่านายเนตรที่ควรจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งคดีแทน อสส. หรือไม่ ทำไมเมื่อจะต้องสั่งคดีสำคัญๆ ขึ้นมาทีไรก็จะต้องมีเหตุให้ อสส. ไม่อยู่ทุกที และเมื่อ อสส. ไม่อยู่ทีไร เหตุใดคนสั่งคดีพวกนี้จึงต้องเป็นนายเนตรทุกครั้งทุกทีไป ไม่มีอัยการท่านอื่นที่มีอาวุโสหรือมีตำแหน่งสูงเหมาะสมกว่าหรือ คดีเล็กน้อยขับรถชนคนตายแค่นี้ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีจริงหรือ ฯลฯ เหล่านี้คือข้อสงสัยและเป็นปัญหาที่ต้องมีคำตอบ

ในเรื่องการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องหรือไม่เห็นแย้ง ก็มีข้อสงสัยว่าเหตุใดจนบัดนี้ที่สังคมจะทนไม่ไหวแล้วนั้น ทั้งนายเนตร กับ พล.ต.ท. เพิ่มพูน ซึ่งเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจก็ยังไม่ออกมาชี้แจงอธิบายเหตุผล และเหตุใดผู้บังคับบัญชาจึงไม่สั่งการให้ออกมาชี้แจงเหตุผลด้วยตนเองเช่นกัน แต่กลับให้คนอื่นออกมาอธิบายในสิ่งที่คนทั้งสองนี้ทำลงไปเต็มไปหมด แล้วพยายามมาอธิบายให้สังคมเชื่อ พอโดนถามหนักๆ ในเรื่องการใช้ดุลยพินิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ตอบไม่ได้ ก็แก้ตัวว่าไม่อาจก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของท่านนั้นๆ ได้ ก็ถ้าเช่นนี้ทำไมไม่ให้เจ้าตัวออกมาชี้แจงแถลงไขเอง แทนที่จะตั้งคนอื่นมาเป็นทนายหน้าหอแก้ตัวให้ เหมือนกับไม่ต้องการให้เจ้าตัวต้องถูกซักถาม มันปกติหรือไม่ครับ
ไม่รู้จริงๆ หรือครับว่าการทำเช่นนี้ก็เข้าหลักการเป็นพยานบอกเล่าหรือเป็นเพียงความเห็นของผู้ชี้แจงที่ฟังไม่ได้ตามกฎหมายเช่นกัน
ประเด็นเรื่องดุลยพินิจนี้เป็นประเด็นสำคัญ หากชี้แจงไม่ได้หรือไม่มีเหตุผลเพียงพอ ก็เท่ากับว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจสั่งการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลคือ ผู้ออกคำสั่งต้องรับผิด และคำสั่งนั้นเป็นโมฆะ ตามทฤษฎีกฎหมายที่ว่า “ผลของต้นไม้พิษยังไงมันก็เป็นพิษ”

เมื่อการใช้ดุลยพินิจเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผิดถูกก็ให้เจ้าตัวอธิบายกันไป เหตุใดจึงต้องเอาความน่าเชื่อถือขององค์กรทั้งองค์กรมาออกรับแทนคนสองคน ทำไมไม่ให้เขาชี้แจงเอง น่าประหลาดหรือไม่

เมื่อพูดถึงพยานที่เสียชีวิตไปแล้วก็บอกว่าไม่ใช่พยานใหม่ แต่มาให้การเป็นพยานตั้งแต่ 5 วันหลังเกิดเหตุ แล้วทำไมต้องรอถึง 7-8 ปี เพื่อจะให้พยานระลึกชาติย้อนหลังไปว่าเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วในขณะเกิดเหตุขับรถด้วยความเร็วเท่าใด หาก “ความเร็ว” เป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดในคดีนี้จริงๆ แล้ว ทำไมพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนจึงสั่งฟ้องไปแล้วได้ และทำไมต่อมาพนักงานอัยการผู้อื่นจึงค่อยเตือนสติให้พนักงานสอบสวนไปหาข้อมูลนี้มาเพิ่มหลังเวลาผ่านไป 7-8 ปี ทำไมต้องรอให้ผู้กระทำผิดร้องขอความเป็นธรรมเตือนสติอัยการก่อน แล้วอัยการจึงไปเตือนสติพนักงานสอบสวนอีกที่หนึ่ง พยานผู้นี้ก็เก่งจริงๆ ยังจำได้เป๊ะว่าในเวลาตี 5 เมื่อ 7-8 ปี ก่อน ขับรถด้วยความเร็วเท่าใด คนที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมก็เป็นคนจำแม่นพอสมควร แต่ผมยังจำไม่ได้เลยว่าเมื่อวานตอน 5 โมงเย็น ผมขับรถด้วยความเร็วเท่าใด เพราะจะมีสักกี่คนที่เวลาขับรถสายตาจะจ้องมองอยู่ที่เข็มวัดความเร็ว และจะมีกี่คนที่เวลาพบอุบัติเหตุจะก้มลงไปดูทันทีเลยว่าขณะนั้นตนเองขับรถด้วยความเร็วเท่าใด

ท่านผู้อ่านจำได้ไหมครับว่าก่อนอ่านโพสต์ของผมท่านขับรถมาด้วยความเร็วเท่าใด พนักงานสอบสวนและอัยการบอกว่ารถของพยานคนนี้อยู่ตรงที่เกิดเหตุพอดีและอยู่ในภาพวงจรปิด แต่ไม่บอกว่ามีพยานหลักฐานใดเชื่อได้ว่าพยานคนนี้เป็นเจ้าของรถหรือเกี่ยวข้องกับรถคันดังกล่าวอย่างไร มีพยานหลักฐานใดที่ทำให้เชื่อได้ว่าพยานผู้นี้เป็นคนขับรถหรืออยู่ในรถคันดังกล่าวในเวลานั้นจริง นอกจาก “คำบอกเล่า” ของพยานเอง พยานนั่งรถมากับใครที่ยืนยันข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ พยานกำลังจะไปที่ไหนในเวลาตี 5 ทั้งๆ ที่พยานมีภูมิลำเนาอยู่เชียงใหม่ แต่กลับมุ่งหน้าไปทางพระโขนงซึ่งเป็นเส้นทางไปชลบุรีด้วยเหตุผลใด มาทำอะไรอยู่ที่กรุงเทพฯ จะไปไหน มีธุระอะไรในเวลาตี 5 ฯลฯ เหล่านี้ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนให้ได้ความชัดเจนจนมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอที่เชื่อได้ก่อนที่จะรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดเหตุว่าพยานผู้นี้เป็นประจักษ์พยานจริงมิใช่พยานบอกเล่าที่ไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย แต่แทนที่จะให้ได้ความชัดเจนเรื่องนี้ก่อนกลับไปฟังคำบอกเล่าของพยานผู้นี้เลยแล้วนำมาเป็นประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด
มันข้ามขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่!!!

พยานที่เป็นทหารและข้อพิรุธน่าสงสัยอื่นๆ ค่อยว่ากันทีหลังนะครับ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องรอยเบรค อัยการแถลงว่าที่ไม่มีรอยเบรคเป็นเพราะรถเฟอรารี่ของผู้กระทำผิดมีระบบเบรค ABS ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรกจริงๆ คราวก่อนตำรวจบอกว่าสารโคเคนในเลือดมาจากยาที่ใช้ในการทำฟัน หมอฟันออกมาบอกว่าไม่จริงและเลิกใช้สารนี้ในการทำฟันมาแล้วประมาณ 140 ปี คราวนี้อัยการบอกว่าไม่มีรอยเบรคเพราะรถมีระบบเบรค ABS

นี่มันปี พ.ศ. 2563 ค.ศ. 2020 แล้วนะครับ ระบบเบรค ABS มีใช้แรกๆ ประมาณ พ.ศ. 2523 หรือประมาณ ค.ศ. 1980 ประมาณ 40 ปีก่อน เกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในช่วงแรกๆ เป็นอุปกรณ์เสริมราคาแพง แต่ปัจจุบันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่มากับรถแทบทุกคัน แทบทุกรุ่น และแทบจะทุกประเภท ระบบเบรค ABS ไม่ใช่ระบบป้องกันไม่ให้เกิดรอยเบรคบนถนน และไม่ใช่ระบบลบรอยเบรคเหมือนยางลบดินสอนะครับ แต่เป็นระบบป้องกันการลื่นไถลเวลาเบรคครับ พูดง่ายๆ คือช่วยการทรงตัวป้องกันไม่ให้รถลื่นไถลไปซ้ายหรือขวาเวลาเบรคฉุกเฉินขณะรถมีความเร็วสูงเท่านั้น แต่ร่องรอยการเบรคบนพื้นถนนยังมีอยู่ตามความเร็วของรถเช่นเดิม ดูได้จากการเกิดอุบัติเหตุทั่วไปในปัจจุบันที่มีรอยเบรคเสมอ รถเหล่านั้นแทบทุกคันก็มีระบบเบรค ABS กันหมดแล้ว จริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีรอยเบรคก็คือชนโดยไม่ได้เบรคนั่นเอง ไม่ประมาทก็เจตนาย่อมเล็งเห็นผลครับ

ถ้าจะสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซด์ของนายดาบที่พยายามยกขึ้นมาสร้างความชอบธรรมให้ใครสักคนหนึ่งแล้วละก้อ ก็ควรพิจารณาตั้งข้อหานายดาบว่าขับรถโดยประมาทไม่หลบหลีกให้รถที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงจนเป็นเหตุให้ตนเองถึงแก่ความตายเลยจะดีไหม

อนาถใจจริงๆ
แค่ปฏิรูปคงไม่พอแล้วครับ