ผ่า 'เมียนมา' ก่อนเลือกตั้ง ถอดบทเรียนจากเพื่อนบ้าน
เผลอแป๊บเดียวรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบเกือบ 50 ปีของเมียนมากำลังจะหมดวาระลง เมียนมาจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ แล้วพัฒนาการด้านการเมืองของเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ให้บทเรียนอะไรกับ "ไทย" บ้างหรือไม่
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน วันที่ 8 พ.ย. 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลาย เหนือพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ที่กองทัพหนุนหลัง และครองอำนาจอยู่ 5 ปีก่อนซูจีคว้าชัย ท่ามกลางยินดีของชาวโลกว่า เมียนมากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างงดงาม แต่ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่เป็นเรื่องที่ควรหาคำตอบและที่มาที่ไป
หนังสือ “ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด” ของสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ แปลจาก THE HIDDEN HISTORY OF BURMA: Race, Capitalism and the Crisis of Democracy in the 21st Century ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างนักเขียนกับนักแปล ตั้น เมี่ยน-อู อดีตนักวิชาการอาคันตุกะที่วิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยทำงานกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทั้งในหน่วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพและที่สำนักเลขาธิการในนครนิวยอร์ก ทั้งยังเป็นหลานตาของอู ตั้น (ที่คนไทยคุ้นหูกับ อู ถั่น) อดีตเลขาธิการยูเอ็นชาวเอเชียคนแรก และเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงคนเดียวนับจนถึงขณะนี้ ประสบการณ์ในต่างแดนของตั้น เมี่ยน-อู นานพอที่จะเข้าใจว่าชาติตะวันตกมองประเทศของเขาอย่างไร ขณะที่สุภัตรา ภูมิประภาส เป็นอดีตคนข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาและสิทธิมนุษยชนก่อนผันตัวมาเป็นนักแปล มีผลงานการแปลเกี่ยวกับเมียนมาหลายเล่ม
ด้วยความเป็นนักประวัติศาสตร์ ตั้น เมี่ยน-อู เริ่มต้นบทที่ 1 ด้วยประวัติศาสตร์เมียนมาไล่เรียงมาตั้งแต่มนุษย์ยุคใหม่ สู่คริสต์สหัสวรรษที่ 1 เมืองอมรปุระ ราชอาณาจักรอาระกัน สู่ยุคโคโลเนียล จนได้รับเอกราชในวันที่ 4 ม.ค .2491 และนายพลเนวิน ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2505 ที่เวลานั้นรัฐบาลทหารถือเป็นธรรมเนียมปกติทั่วเอเชีย ไม่ว่าเกาหลีใต้ ไทย ปากีสถาน และอินโดนีเซีย ต่างอยู่ภายใต้ระบอบนี้ (เกือบ 60 ปีผ่านไป ประเทศใดหลุดพ้นเงื้อมมือทหารได้ถือว่าการเมืองมีพัฒนาการ)
เนื้อหาส่วนถัดไปจับความตั้งแต่เนวินพ้นอำนาจ สู่ยุคซอหม่องและตานฉ่วยที่ต้องขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ว่ากันว่าเมียนมามีธรรมเนียมต้องรัฐประหารเจ้านายเก่า แม้แต่เนวินก็จบไม่สวย ดังนั้นการที่เมียนมามีรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งได้ต้องใช้กลไกขับเคลื่อนมากมาย ไม่ใช่มีแค่อองซาน ซูจี หรือเต็ง เส่ง นายพลผู้ถอดเครื่องแบบมานุ่งโสร่งเป็นนักการเมืองพลเรือน แต่ยังมีตัวละครตัวเล็กตัวน้อยที่เปรียบเสมือนชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ประกอบกันขึ้นเป็นเมียนมาอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือ ตั้น เมี่ยน-อู เดินทางมาแล้วรอบโลกรวมทั้งในเมียนมา พบเจอคนมามาก เข้าถึงคนทุกฝ่ายตั้งแต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐ รัฐมนตรีคนสำคัญของยุโรป ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ กลุ่มคลังสมองต่างๆ นานา ไปจนถึงชาวบ้านผู้ประสบภัยไซโคลนนาร์กิส ชาวมุสลิมในรัฐอาระกัน และอื่นๆ ความสำเร็จในการบริหารประเทศของรัฐบาลถูกนำเสนอผ่านปากคำของชาวบ้านเหล่านี้ ให้ผู้อ่านได้พิจารณาเองว่า นโยบายนั้นสำเร็จหรือล้มเหลว
สำหรับคนที่สนใจการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศ ส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจอยู่ที่เบื้องหลังการเจรจากับชาติตะวันตกให้ผ่อนคลายแรงกดดันต่อเมียนมา ที่ตั้น เมี่ยน-อู มีส่วนร่วมในการเจรจาสำคัญๆ มากมาย เรื่องราวเหล่านั้นถูกถ่ายทอดสู่ผู้อ่านราวกับว่า กำลังนั่งอยู่กลางวงเจรจาเสียเอง จนตระหนักว่า มาตรการคว่ำบาตรใดๆ ที่มหาอำนาจกระทำกับชาติใดชาติหนึ่งเพื่อบีบให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แท้จริงแล้วคนที่รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรเหล่านั้นคือชาวบ้านตาดำๆ ส่วนรัฐบาลยังคงอยู่ดีมีสุข กว่าจะคิดได้ว่าควรทำอะไรก็ต้องสังเวยชีวิตชาวบ้านไปจำนวนมหาศาล
เมื่อพูดถึงมหาอำนาจ หนังสือเล่มนี้ยังเปิดให้เห็นถึงอิทธิพลของ “หลังบ้าน” ที่มีต่อนโยบายต่างประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าการที่หลังบ้านของผู้นำมหาอำนาจประเทศหนึ่งสนใจเมียนมา ส่งผลให้สามีของเธอออกนโยบายมากดดันเมียนมาด้วย
และในฐานะเพื่อนบ้านชาวไทย “ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด” ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ในระดับไม่เป็นทางการระหว่างประชาชนกับประชาชนของสองประเทศ แม้เป็นเพียงแง่มุมเล็กๆ ที่เทียบไม่ได้กับเนื้อหาทั้งหมด แต่อ่านแล้วชวนให้สะท้อนสะท้านใจ จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราควรเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกว่านี้" หรือไม่
นอกจากนี้ การอ่าน “ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด” ในบริบทการเมืองไทยปัจจุบัน ยังชวนให้คิดว่า ขบวนการนักศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านรายนี้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เข้มแข็งตั้งแต่ยุคเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ การประท้วงใหญ่ 8888 เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2531 (1988) ก็เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก วันนั้นชัยชนะของประชาชนอยู่แค่เอื้อมแต่ต้องมาจบลงด้วยการรัฐประหารของซอหม่อง ในนาม สภาเพื่อการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (สลอร์ค) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นักศึกษาประชาชนต้องหนีเตลิดเข้าป่า จำนวนมากมาประเทศไทย บ้างไปยุโรป สหรัฐ และที่อื่นๆ
ส่วนในประเทศขบวนการนักศึกษาถูกกดไม่ให้เติบโต เมียนมาจึงเหลือแต่นายพลสูงอายุ แม้แต่พรรคการเมืองอย่างเอ็นแอลดีก็มีแต่ผู้อาวุโส ซึ่งการเดินหน้าประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศใด จะขาดพลังของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ หากอยากพัฒนาประเทศ อย่าทำลายคนหนุ่มสาว และถ้าไม่อยากให้ประวัติศาสตร์การเมืองซ้ำรอย “ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด” เหมาะที่คนไทยจะศึกษาเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศต้องเดินถอยหลัง