'พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ฯ' ทรงประกอบพิธีบวงสรวงยกปลียอดธรรมเจดีย์หลวงตาพระมหาบัว

'พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ฯ' ทรงประกอบพิธีบวงสรวงยกปลียอดธรรมเจดีย์หลวงตาพระมหาบัว

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปในการประกอบพิธีบวงสรวงและเป็นประธานพิธียกปลียอดพระเจดีย์โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล ณ วัดเกษรศีลคุณ(วัดป่าบ้านตาด) จ.อุดรธานี

วันนี้ (6 ส.ค.63) เวลา 08.26 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เสด็จไปในการประกอบพิธีบวงสรวงและเป็นประธานพิธียกปลียอดพระเจดีย์ โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล ณ สถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ วัดเกษรศีลคุณ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

ในการนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กราบทูลถวายรายงานเรื่องพิธีบวงสรวงการยกปลียอดพระเจดีย์ ตลอดจนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งขณะนี้ ภาพรวมของการก่อสร้างในส่วนของโครงสร้าง ทั้งพระเจดีย์ พระวิหาร และ พิพิธภัณฑ์ มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 85 สมควรแก่กาลเวลาที่จะดำเนินการยกยอดฉัตรทองคำที่คณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมปัจจัยและทองคำสร้างยอดฉัตรและฐานฉัตร มากกว่า 200 กิโลกรัม ประกอบพระเจดีย์ในครั้งนี้ เพื่อร่วมรำลึกถึงคุณูปการและแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระสุปฏิปันโนผู้จรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป อีกทั้งเพื่อระลึกถึงหลักธรรม คำสอนของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้เป็นแบบอย่างในการทำความดีเพื่อพระพุทธ ศาสนา ประเทศชาติ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน

159669390765

159669390988

จากนั้น เวลา 11.27 น. เสด็จทรงเป็นประธานพิธียกปลียอดพระเจดีย์ โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้าง โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล โดยมีนายกอบเกียรติ กาญจนะ ไวยาวัจกรวัดเกษรศีลคุณ กราบทูลถวายรายงานขั้นตอนการยกปลียอดพระเจดีย์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การติดตั้งปลียอดแรก หรือปลียอดล่างสุด มีลักษณะรูปทรงแปดเหลี่ยม ขนาดกว้าง 3.36 เมตร สูง 4.98 เมตร เนื้อโลหะทองแดงหนาประมาณ 8 มิลลิเมตร ผิวภายนอกเคลือบทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งทองคำเหล่านี้ล้วนเป็นทองคำที่ได้รับบริจาคจากมหาชนผู้มีศรัทธาแรงกล้าต่อหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ตามที่พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย และรักษาการเจ้าอาวาสวัดกองเพล เชิญชวนศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างยอดฉัตรทองคำโดยตั้งเป้าไว้ที่ 98  กิโลกรัม เท่ากับอายุของหลวงตาขณะละสังขาร แต่พลังศรัทธาจากศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชน ได้บริจาคทองคำเป็นจำนวนมาก ได้น้ำหนักทองยอดฉัตร 86.2 กิโลกรัม ทองฉัตรชั้นที่ 1 ได้นำหนักทอง 99.4 กิโลกรัม ส่วนทองที่เหลือประมาณ 39 กิโลกรัม คณะศิษยานุศิษย์วัดป่านาคำน้อย เป็นธุระนำไปเคลือบทองในส่วนปลียอด รวม 11 ชิ้นงาน ความสูง 19 เมตร  ให้เหลืองอร่ามดุจเนื้อเดียวกัน โครงสร้างภายในปลียอด ยึดรั้งด้วยโครงสเตนเลสที่มีความมั่นคงแข็งแรง คงทนถาวร หลังจากติดตั้งปลียอดแรก ทรงแปดเหลี่ยมแล้วเสร็จ จึงประกอบเม็ดมะยมแปดเหลี่ยมขนาดกว้าง 2.47 เมตร สูง 1.07 เมตร วางเหนือปลียอดแปดเหลี่ยมโลหะทองแดงหนาขนาดประมาณ 8 มิลลิเมตร ผิวภายนอกเคลือบด้วยทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งยึดตรึงให้มั่นคงแข็งแรง และกรอกคอนกรีตลงในปลอกโลหะที่อยู่ภายใน เสร็จแล้วจึงทิ้งไว้ให้คอนกรีตแข็งตัวเต็มที่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

159669397238

จากนั้นวันรุ่งขึ้น (7 ส.ค.) จึงเริ่มดำเนินงานยกปลียอดส่วนที่เหลือ ได้แก่ ฐานฉัตร จนแล้วเสร็จในการนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานโครงการการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีอัญเชิญยกยอดฉัตรทองคำและฉัตรทองคำ ชั้นที่ 1 ในวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ    พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นวันครบรอบชาตกาล 107 ปี ของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ทั้งนี้ด้วยทรงมีพระปณิธานที่จะให้ปลียอดและฉัตรของพระเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นที่สุด เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาคุณพระบูรพาจารย์

159669410466

159669411828

พระเจดีย์แห่งนี้นับเป็นศิลปกรรมไทยองค์สำคัญองค์สุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และความสำคัญของยอด หรือเครื่องยอด คือส่วนสูงสุดหรือส่วนเหนือสุดที่อยู่บนบัลลังก์ประกอบเจดีย์ บ่งบอกถึงสถานะที่สำคัญยิ่งของสิ่งที่อยู่ภายใต้ยอด หรือเครื่องยอด ดั่งมีปรากฏมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ในแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 3 แสดงเป็นร่ม หรือฉัตรเหนือสถูปเจดีย์ นำมาออกแบบประกอบใช้เหนือเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล โดยนำลักษณะของการใช้ปลียอดและฉัตร ขนาดความสูงรวม 1,900 เมตร ประกอบบัลลังก์เป็นส่วนยอดเหนือองค์เจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ เพื่อแสดงถึงการสืบต่อพระพุทธศาสนา และการเทิดทูนบูชาบูรพาจารย์ อันประกอบด้วย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นต้น และเป็นเจติยสถานอันบุคคลควรบูชา

โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ก่อสร้างบนพื้นที่ขนาด 181 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน บรรจุอัฐิธาตุ รวบรวมประวัติ หนังสือ คำสอน เครื่องอัฐบริขาร เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของพระธรรมวิสุทธิมงคล ในฐานะที่เป็น “ถูปารหบุคคล” (ถู-ปา-ระ-หะ-บุก-คน) หรือบุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์ไว้บูชาของชาวจังหวัดอุดรธานีและประเทศไทย ที่ครั้งหนึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการใช้ธรรมะช่วยเหลือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2540 ในรูปแบบดำเนินการทอดผ้าป่าทองคำและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ "โครงการผ้าป่าช่วยชาติ” รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนให้ถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ และทำความดีเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป พร้อมกันนี้ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และทีมงานสยามรีโนเวท เป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วย 

159669410187

159669414070

ทั้งนี้ ในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ ฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงออกแบบลักษณะของพระเจดีย์ พระวิหาร และ พิพิธภัณฑ์นั้น โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจากสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานยังคงดำรงอย่างมั่นคง และเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป