'ซูเปอร์โพล' เผยปชช.หวั่นปัญหาการเมือง-พิษศก.จะรุนแรง คนตกงานเพิ่ม
“ซูเปอร์โพล” เผยประชาชนส่วนใหญ่ หวั่นการเมืองบานปลาย-พิษเศรษฐกิจจะรุนแรง คนตกงานเพิ่ม-ทุจริตคอร์รัปชัน
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.63 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อารมณ์ประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 16,099 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 2,459 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.6 ระบุปัญหาการเมืองจะรุนแรง ลุกลามบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 18.4 ระบุไม่รุนแรง ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 ระบุปัญหาเศรษฐกิจจะรุนแรง ลุกลามบานปลาย คนตกงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 12.1 ระบุไม่รุนแรง
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.2 ระบุ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอยู่ในระดับรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 37.8 ระบุไม่รุนแรง นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่า ก่ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 49.1 อดทน ยอมรับได้ต่อปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 50.9 ระบุ ไม่ทนต่อปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แม้ตนเองจะได้ประโยชน์ก็ตาม
นายนพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบอารมณ์ประชาชนในโลกโซเชียลต่อข้อความการเมืองแต่ละข้อความที่สำคัญมีการปล่อยออกในโลกโซเชียลอย่างมีระบบแบบแผน มีการเคลื่อนไหวในลักษณะลูกคลื่น ที่มีการรับช่วงต่อเป็นทอดๆของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แรง ๆ โดยมีผู้ก่อการ ข้อความการเมืองมักเป็นพวกนินจาที่จัดอยู่ในกลุ่ม Influencer ระดับคะแนนแค่ 1 จากคะแนนเต็ม 10 มีคนติดตาม (Follower) ประมาณ 20 คนเท่านั้น จากนั้น แกนนำ นักเคลื่อนไหวการเมืองจะนำข้อความการเมืองมาพูดซ้ำและได้รับการพาดหัวข่าวแพร่สะพัดกระจายเป็นไวรัล (viral) คลื่นอารมณ์ประชาชนก้อนโต ในโลกโซเชียล
ยกตัวอย่าง ในวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีผู้ก่อการใช้นามแฝง ปล่อยข้อความการเมืองเข้าสู่โลกโซเชียลว่า “ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ใครก่อขบฐกับรัฐบาล คนนั้นคือวีรบุรุษ” ให้สังเกตคำว่า “ขบฐ” จงใจเขียนถูกเขียนผิดหรือไม่ และตอนนั้นไม่แรงเป็นแค่หลักหน่วย ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคม ได้ปล่อยข้อความเดียวกันออกมาอีกครั้งโดยมีเครือข่ายตอบรับเพิ่มอีกเล็กน้อยแต่ต่อมากลายเป็นไวรัล (viral) ในวันที่ 7 สิงหาคมขึ้นสู่หลักล้าน
ที่น่าพิจารณาคือ คลื่นอารมณ์ของประชาชนในโลกโซเชียลที่ก่อตัวเกิดขึ้นต่างวันและห้วงเวลาแบบกระจัดกระจายกำลังมารวมตัวกันในห้วงเวลาเดียวกันเป็นก้อนใหญ่ระหว่างวันที่ 6 สิงหาคมเป็นต้นไป และมีศักยภาพจะกลายเป็น สึนามิ ได้อย่างน่ากลัวถ้ามีการเชื่อมโยงกันได้ระหว่างอารมณ์ประชาชนในโลกโซเชียลกับโลกความเป็นจริงตามยุทธการ (Online – Onground) โดยแต่ละข้อความการเมืองมีช่องทางใน
การสื่อแตกต่างกัน ในการศึกษาครั้งนี้พบข้อความที่ว่า “คณะประชาชนปลดแอก” ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 57.2 น้อยกว่าข้อความอื่น ๆ เช่น ข้อความที่ว่า “เยาวชนปลดแอก” ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 91.3 โดยข้อความว่า คณะประชาชนปลดแอก หันไปใช้สำนักข่าวต่าง ๆ มากถึงร้อยละ 20 แต่ถ้าข้อความที่ว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” จะใช้อินสตาแกรม ร้อยละ 13.6 และใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 79.8 ในขณะที่ ข้อความการเมือง ที่ว่า ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ได้ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 85.2 และใช้วิดีโอ ร้อยละ 8.8 ตามด้วย ข่าว ร้อยละ 4 เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า อารมณ์ประชาชน กำลังปรับทิศทางเข้าหากันโดยเริ่มจากอารมณ์ประชาชนในโลกโซเชียลก่อนและเมื่อลุกลามมานอกโลกโซเชียลก็จะทำให้เกิดคลื่นมวลประชาชนออกมาแสดงตนต่อปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่ประชาชนครึ่งหนึ่งจะไม่ทนต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า จากการย้อนดูข้อมูลในช่วงเวลาสองถึงสามเดือนที่ผ่านมาพบว่า ก้อนคลื่นอารมณ์ประชาชนที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งรัฐบาลเป็นผู้ก่อจากการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี การกดดันให้กลุ่มสี่กุมารลาออกในลักษณะเสร็จนาฆ่าโคถึก ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐทำให้เกิดก้อนคลื่นอารมณ์ประชาชนที่ “ไม่โอเค” กับความวุ่นวายภายในรัฐบาลขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากเดือดร้อน และมารวมตัวกับก้อนคลื่นอารมณ์ประชาชนที่อยู่ในโลกโซเชียลจากการออกมาแสดงความไม่โอเคต่อรัฐบาลที่นำโดยม็อบเยาวชนปลดแอกและคณะประชาชนปลดแอกที่กำลังนำไปสู่สถานกาณ์ที่เปราะบางของบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้ จนยากจะหาทางออกได้ในเวลานี้ ทางแก้อยู่ที่ข้อมูลของคนมีอำนาจว่าจะแม่นยำถูกต้องครอบคลุมและทันเวลาหรือไม่ และอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะให้เกิดปฏิบัติการอะไรออกมาที่ตรงเป้าความต้องการไม่ฝืนอารมณ์ประชาชน