"ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ" จัดนิทรรศการแสดงชุดใหม่ "สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ณ หอสุพรรณ-พัสตร์ เรียนรู้พระราชกรณียกิจการส่งเสริมงานหัตถศิลป์
ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องราวอันเป็นที่มาของพระราชดำริในการนำงานศิลปหัตถกรรมมาเป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวไร่ชาวนาไทย สู่การก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในเวลาต่อมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายถึงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ไทยในมิติต่าง ๆ
"นิทรรศการเน้นเรื่องพระราชกรณียกิที่เกี่ยวกับผ้าไหมและการส่เงสริมให้เป็นที่รู้จักการเปลี่ยนแปลงและหักเหของผ้าไหมไทย ส่งผลให้งานหัตถกรรมสู่สากล มีรายละเอียดที่เราเคยมองข้ามไป หลายเรื่องนึกไม่ถึง พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เริ่มสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงขึ้นครองราชย์ มีเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เราพูดถึงงานศิลปาชีพเมื่อ ปีพ.ศ. 2513 ที่แม่น้ำศรีสงคราม เกิดเหตุน้ำท่วม
ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ มีราษฎรหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน เดินทางมาเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสังเกตว่า แม้ในยามที่ประชาชนตกทุกข์ได้ยากพื้นดินยังชุ่มแฉะด้วยน้ำที่ขังอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังนุ่งผ้าไหมมัดหมี่มารับเสด็จ ทรงประทับใจความของผ้าไหมและทรงตระหนักดีว่า ผ้าไหมเป็นงานหัตถกรรมในครัวเรือนของชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า ถ้าจะทรงช่วยเหลือประชาชนในระยะยาว ก็คงต้องมีสิ่งที่ทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างอาชีพ และไม่มีสิ่งใดเหมาะมากไปกว่าผ้าทอ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกครัวเรือนคุ้นเคยและเป็นที่มาของการรับรู้ของคนทั่วไปว่าเป็นจุดกำเนิดของศิลปาชีพ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ส่วนสิ่งที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดการต่อยอดของผ้าไหมไทย มีสิ่งที่่น่ากล่าวถึง 12 เรื่องด้วยกันจากที่เราเคยมองข้ามไป เช่น ประการแรก เดิมทีผ้าไหมพื้นบ้านมีความยาวของผ้าซิ่นแต่ละผืนมีไม่เท่ากันเลย เนื่องมาจากความนิยมของคนแต่ละพื้นถิ่น บางผืน ยาว 80-85-90 รวมๆ แล้วไม่ถึงเมตร พระองค์ท่านทรงขยายหน้ากี่ทอผ้าหรือฟืมทอผ้าให้มีมาตรฐานหน้ากว้างเท่ากัน คือ 1 เมตร ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า
ประการที่สอง คือ การอนุรักษ์ลวดลายด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์และนางสนองพระโอษฐ์ในเวลานั้น ไปเก็บตัวอย่างผ้าไหมไทยทรงเน้นย้ำกับผู้ที่ลงพื้นที่ในเวลานั้น ว่า
‘แม้แต่ผ้าขี้ริ้ว ผ้าถูเรือน ก็อย่ามองข้าม อย่าละเลย’
แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับเศษผ้าที่ชาวบ้านไม่ใช้แล้ว นำมาสร้างประโยชน์จากลวดลายเหล่านั้น เพื่อเป็นต้นทุนให้ชาวบ้านมาทอผ้าต่อไป
ประการที่สาม พระองค์ท่านทรงพัฒนาโครงสีของผ้าทอ เดิมทีเป็นสีมืดดังตัวอย่างที่จัดแสดงอยู่ในห้องนี้ ทรงพัฒนาให้ใช้กลุ่มไหมชุดสีสว่างและสดใส เหมาะกับการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแบบสากลมากขึ้น ลวดลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงอนุรักษ์โดยพัฒนาต่อยอดจากลวดลายดั้งเดิมให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ดังที่ทรงจัดให้มีการประกวดผ้าไหมทุกปี ส่งผลให้ผ้าไหมได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนผ้าที่จัดแสดงอื่นๆ ในห้องนิทรรศการนี้ เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงต้องการให้ผ้าไหมไทยมีประโยชน์ใช้สอยเพิ่มขึ้น ด้วยการทอผ้าลายและผ้าพื้นด้วยเส้นยืนและเส้นพุ่งที่ย้อมในคราวเดียวกัน ถือเป็นการแก้ปัญหาในอดีตว่าเวลาจะตัดเสื้อ เวลาหาผ้ามาแมตช์กับผ้าลายยากมาก เวลาสุภาพสตรีนำไปตัดเป็นชุด ก็ไม่เกิดการลักลั่นในการทำเสื้อผ้า" ผศ.ดร. อนุชา กล่าวและนำชมมาถึงงานประติมากรรมประดิษฐ์ด้วยผ้าไหมสื่อถึงหัตถกรรมพื้นบ้านสู่สากล
"เก้าอี้ที่นั่งเหล่านี้ ทำจากผ้าฝ้ายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ นับเป็นกุศโลบายของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่เคยทอผ้า ได้เริ่มต้นทอผ้าแบบง่ายๆก่อน ผ้าฝ้ายพื้นหรือตาตารางแบบผ้าขาวม้า นับเป็นแบบฝึกหัดทอผ้าอย่างหนึ่ง
ห้องถัดมา จัดแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูส่งเสริมผ้าแพรวา เราอาจจำไม่ได้แล้วว่าเมื่อครั้งหนึ่ง ผ้าแพรวาเกือบสูญหายไปจากประเทศไทย เนื่องจากไม่มีคนทอคนใช้ผ้าดังกล่าว ครั้งนั้นพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์และทรงพบกลุ่มสตรีที่นุ่งผ้าแพรวา นำโดยแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ ท่านเพิ่งสิ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ เป็นสะใภ้ที่มาอยู่บ้านโพนในเวลานั้น แม่คำใหม่เล่าให้ฟังว่า ก่อนล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ มา ชักชวนชาวบ้านให้แต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายแบบผู้ไท โดยหาผ้าแพรวามาห่ม เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทอดพระเนตร มีพระราชปฏิสันถารว่า
‘ผ้านี่สวยดีนะ มีมากไหม’
แม่คำใหม่ กราบบังคมทูลว่า มีไม่มากเพราะทำยาก หลังจากนั้นพระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์กลับมายังหมู่บ้านแห่งนี้ พร้อมกับนำเส้นไหมมาจำนวนหนึ่งและขอให้ทอผ้าแพรวาทูลเกล้าฯ ถวาย โดยในเวลานั้นไม่มีใครกล้ารับทอผ้าแม้แต่คนเดียว เพราะส่วนใหญ่ทอได้แต่ผ้าพื้น ลืมไปหมดแล้วว่าผ้าแบบนี้ทอยังไง
แม่คำใหม่เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น แต่ก็รับปากกับราชเลขานุการในพระองค์ว่าจะทำให้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เพราะตอนนั้นคิดว่า เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเสด็จมาถึงที่ ไม่มีใครรับทำเลย เป็นเรื่องน่าละอาย เลยรวบรวมสมัครพรรคพวกช่วยกันทอผ้า ใช้เวลา 1 ปีในการฟื้นฟูลายผ้าก็สำเร็จ ได้ผ้าชุดแรก 16 ผืน แม่คำใหม่บอกผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำความกราบบังคมทูลว่า ผ้าที่โปรดเกล้าฯ ให้ทอนั้นเสร็จแล้ว ผู้ว่าฯ ก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ส่งผ้าเข้าวังไปเลย
แม่คำใหม่บอกว่า ไม่ได้ เพราะฉันบอกชาวบ้านไว้หมดแล้ว ว่าถ้าทอผ้าเสร็จแล้วจะให้เข้าวัง ผู้ว่าฯ นำความขึ้นกราบบังคมทูลอีกครั้ง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงโปรดเกล้าฯให้นำชาวบ้านขึ้นรถบัสจากบ้านโพน ไปเฝ้าที่วังไกลกังวล ดังที่เราจะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจูงมือแม่คำใหม่” ผศ.ดร.อนุชา ขยับตัวเข้าไปยืนใกล้เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว
“พระองค์ท่านทรงยกย่องว่า แม่คำใหม่เป็นสตรีกล้าหาญมากที่ลุกขึ้นมารับทอผ้า แม้จะมองไม่เห็นอนาคตในเวลานั้น และเป็นคนแรกที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูการทอผ้า พระองค์ท่านทรงให้ความใกล้ชิดกับแม่คำใหม่ในฐานะที่เป็นผูู้ชุบชีวิตให้แก่ผ้าไหมแพรวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นผ้าแพรว่าได้รับการต่อยอดพัฒนาจากของเดิมเป็นผ้าไหมสีแดงถึงแดงคล้้ำ กว้างไม่ถึง 40 เซนติเมตร เนื่องจากผ้าแพรวาใช้เป็นผ้าเบี่ยงหรือผ้าห่มไหล่เท่านั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้มีการขยายฟืมกว้าง 1 เมตร เช่นเดียวกับผ้าชนิดอื่นๆ ทอผ้าลวดลายที่มีความละเอียดโดยใช้ไหมน้อย กลายเป็นที่มาของความนิยมผ้าแพรวามาจนถึงทุกวัน
รวมทั้ง เปลี่ยนชุดสีจากเดิมคือสีแดง พระราชทานสีพื้นอย่างอื่นเพิ่มเติมเข้าไป อย่างผ้าจัดแสดงนี้ใช้ไหมน้อยที่ผ่านการสะกิดเส้นไหมด้วยนิ้วก้อยหรือขนเม่น ซึ่งกรรมวิธีการการทอผ้าแพรวา ถือว่าล้ำลึกมาก มีส่วนผสมของการจกและการขิดเข้าด้วยกัน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงยกย่องผ้าแพรวา ว่าเป็น ราชินีแห่งไหมไทยเนื่องจากความยากในการทอมีมากกว่าผ้าทอทั้งหมด”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับการสืบสานและต่อยอดผ้าไหมในประเทศไทยยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย
“เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินยังบ้านหนองแคร่ จังหวัดบุรีรัมย์ ทรงพบ ป้าทุ้ม ป้าไท้ ทรงประทับใจที่เขากางมุ้งให้ตัวไหม เพราะตัวไหมมีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศและแมลงที่จะมากัดกินเสียหาย เสด็จฯ เยี่ยมถึงสามครั้งโดยไม่บอกล่วงหน้า ต่อมา พระองค์ท่านพระราชทานผ้าไหมมัดหมี่แก่ปิแอร์ บัลแมงค์นำไป ออกแบบให้เป็นฉลองพระองค์ ซึ่งผ้าทอสีม่วงที่จัดแสดงอยู่ในห้องนิทรรศการเป็นผ้าลายเดียวกับผ้าทอฉลองพระองค์ โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศขอยืมจากพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้มป้าไท้มาให้ชม ดังนั้น การส่งเสริมงานผ้าไหมของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับว่าทรงทำแบบครบวงจร นอกเหนือจากการผลิตเป็นผ้าแล้วยังส่งเสริมการใช้ไหมบ้านที่มีคุณสมบัติสำคัญแยกออกเป็น 3 คุณภาพ คือไหมนอก ไหมกลาง ไหมน้อยที่มีความงามแตกต่างกันไป เช่น ไหมน้อยนำมาใช้ในการส่งเสริมงานปักสอย หรือ Statintic หมายถึงการปักสลับเข้าไปเพื่อให้เกิดความงาม งานปักเป็นงานดั้งเดิมมีหลักฐานที่เราพบในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังพบในวรรณคดีหลายเรื่องด้วยกัน
ส่วนห้องต่อมา จัดแสดงสายพันธุ์ของไหมไทยพื้นบ้าน ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทั้ง 10 สายพันธุ์ ทนทานต่อสภาพอากาศ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงแนะนำว่าไม่ต้องนำไหมจากเมืองนอกมาเลี้ยง เพราะดูแลรักษายาก ไหมไทยแข็งแรงกว่า ให้เส้นไหมที่เงางาม เป็นที่ประจักษ์เมื่อทอเป็นผืนผ้าออกมาแล้วจะไม่ยับง่าย นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติทางเคมี โดยโปรตีนที่เกาะอยู่ในเส้นใยสามารถสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ ครีมทาผิว ยาสระผมเมื่อนำมาสระจะทำให้ผมมีความเงางาม นุ่มลื่นอีกด้วย"
ท่ามกลางเรื่องราวของนิทรรศการในหัวข้อ สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในฉลองพระองค์ผ้าไทยในโอกาสต่างๆ ทั้งในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในประเทศไทยหรือเจริญสัมพันธไมตรียังต่างประเทศ ทรงเป็นแบบอย่างในการเห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์ที่มีส่วนในการส่งเสริมผ้าไทยอย่างแยบยล กระตุ้นให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและหันมาใช้ผลผลิตฝีมือคนไทยด้วยกัน