การเมืองไม่นิ่ง ‘อาเซียน’ ฟื้นยาก
เมื่อความผันผวนทางการเมืองในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้
ไซมอน เทย์ ประธานกลุ่มคลังสมอง สถาบันกิจการระหว่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวกับรายการ Squawk Box Asia ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ความผันผวนบางเรื่องได้สงบลงไป ตอนที่ทางการสั่งล็อกดาวน์เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส และเมื่อได้ผ่อนคลายมาตรการ ก็จะเห็นว่าประเด็นการเมืองได้กลับมาอีกครั้ง และเสถียรภาพรัฐบาลบางประเทศก็ได้ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง
“ที่น่ากังวลคือ ถ้าไม่มีเจตจำนงและเอกภาพทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ในบางประเทศยิ่งเลวร้าย แต่ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ แต่แท้จริงแล้วคือปัญหาเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ และอื่นๆ” เทย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ กล่าว
และยกตัวอย่างมาเลเซียที่เพิ่งเปลี่ยนรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นานก่อนประกาศล็อกดาวน์ในเดือน มี.ค. ผลจากอดีตพรรคร่วมถอนตัวทำให้รัฐบาลล่ม แต่เสถียรภาพและความชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ก็ถูกตั้งคำถาม สื่อหลายสำนักรายงานว่า มาเลเซียอาจมีการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้ เพราะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน
“ประเด็นเล็กๆ เหล่านี้มีมิติทางการเมืองแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ก็ทำให้เกิดคำถามใหญ่มากขึ้นถึงเสถียรภาพทางการเมือง และสมาธิในการรับมือกับทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ของรัฐบาล” เทย์กล่าวเสริม
ส่วนไทยประเทศที่อยู่ติดกัน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในภูมิภาค กำลังมีปัญหาแบบเดียวกัน ตอนนี้ไม่มีทีมเศรษฐกิจ และกำลังรอทีมใหม่เข้ามาทำงาน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตอนนี้คือ เศรษฐกิจประเทศหดตัวไปแล้ว
เดือนที่แล้ว ไทยมีรัฐมนตรีลาออกหลายคน รวมทั้งคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ มีรายงานว่า ไทยแต่งตั้ง รมต.ใหม่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักจากโควิด ทำให้การเดินทางระหว่างกันทั่วโลกหยุดชะงักไป
มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ของสหรัฐ รายงานว่าว่า มาเลเซียและไทยเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงแล้ว กระนั้นนักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำให้เศรษฐกิจเติบโต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก โดยที่ไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จในการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ความเห็นของเทย์สอดคล้องกับ ยูเบน พาราคิวเลส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของธนาคารโนมูระ ที่กล่าวกับซีเอ็นบีซีเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ในภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีที่สุดก็คือรูปตัว U หมายถึงเศรษฐกิจถดถอยและอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นเวลานานก่อนค่อยๆ ฟื้นตัวเพราะว่าโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจเข้าสู่ขาลงยังคงมีอยู่
“สถานการณ์ในประเทศไทยที่แม้ประสบความสำเร็จกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด แต่การท่องเที่ยวที่ตกต่ำได้ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและผลกระทบต่อการท่องเที่ยวรับยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะผ่อนคลายการปิดพรมแดนหรือมีวัคซีนต้านโควิด ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันอีกครั้ง” พาราคิวเลส กล่าวย้ำ
อังค์ถัดประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุดว่า ไทยอาจสูญเสียรายได้ภาคการท่องเที่ยว 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือราว 4.77 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม พาราคิวเลสตั้งข้อสังเกตว่าการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพียงตัวเดียวมาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด เมื่อส่วนนี้หายไป การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงทำได้ไม่มากนัก