สั่งสอบ 'เบื้องหลังม็อบมธ.' - กลาโหมหวั่นจุดชนวนแตกแยก
นายกฯสั่งตรวจสอบเบื้องหลัง “ม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ชี้พิรุธใช้เงินบริหารจัดการมาก เมินคณาจารย์หนุนนักศึกษา “กลาโหม” หวั่นจุดชนวนแตกแยก “ตำรวจ” เฝ้าระวังชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค. “พุทธพงษ์” ลุยเอาผิด 114 รายโพสต์ไม่เหมาะสม ด้านสภานิสิตจุฬาฯ ค้าน ม.116 เอาผิด
ภายหลังการจัดงานกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดเวที“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดวานนี้ (13 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ระบุถึงเรื่องนี้หลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า หากมีการกระทำความผิด ละเมิดกฎหมายแล้วจะต้องทำอย่างไร ตนคิดว่าเรื่องนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่รัฐบาลอาจจะไม่บังคับใช้กฎหมาย เรื่องแบบนี้มี 2 ทางเสมอ รัฐบาลก็พยายามระมัดระวังอย่างยิ่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า อย่าให้ใช้โอกาสนี้ในการทำให้บ้านเมืองไม่สงบก็แล้วกัน ต้องดูหลายอย่าง ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า บริสุทธิ์ใจหรือไม่ การชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ต้องไปดูว่าการชุมนุมสามารถชุมนุมได้ แต่ละเมิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องไปดูตามกฎหมายที่มีอยู่
“การจัดกิจกรรมก็ต้องไปดูว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เงินเหล่านี้มาจากไหนสิ่งเหล่านี้ต้องตรวจสอบ ซึ่งทั้งหมดถือเป็น กลไกการทำงานปกติ ผมไม่ต้องไปสั่งใคร จะทำอะไรก็ขอให้ใช้ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ ซึ่งทุกคนก็คงทราบดีอยู่แล้ว วันนี้การพูดจาผมเองก็ไม่อยากไปพูดให้เกิดปัญหาอีก ดังนั้นต้องหาวิธีในการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีกลุ่มนักวิชาการและคณาจารย์ จำนวน 105 คน ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเรื่องของท่าน ตนหวังว่า ในประเทศไทยเราคงไม่มีนักวิชาการเพียง 105 คน เราจะมีคนเก่งเพียงเท่านี้หรือ เรามีอีกตั้งเป็น 1,000 เป็น 10,000 คน ก็ต้องดูว่าคนเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันมา แต่ข้อสำคัญก็ต้องไม่ไปก้าวล่วงหรือล่วงละเมิดอะไรต่างๆ
356 อาจารย์จี้มหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่
วันเดียวกันนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม โดยเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ในสังคมและรัฐดังนี้ 1.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้นิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ
2.ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมพึงพิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาอย่างมีสติ และ3. รัฐต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสันติของประชาชน ที่ได้รับการรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ ต้องไม่ขัดขวางการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสถานศึกษา
ทั้งนี้ คนส. ได้แนบชื่อของอาจารย์จำนวน 356 รายชื่อ ที่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย
สภามธ.ประกาศ 4 จุดยืน
นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)เรียกประชุมด่วนกรรมการสภามหาวิทยาลัย (จำนวน 29คน) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (13 ส.ค.63) เรื่องเหตุการณ์การชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทนเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่ลานพญานาค มธ. ศูนย์รังสิต
ก่อนจะออกแถลงการณ์ข้อสรุป ประกาศจุดยืน 4 ข้อ ได้แก่ 1. มธ.ยืนยันจุดยืนของการเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2 . มหาวิทยาลัยยอมรับในสิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกของนักศึกษาภายใต้ขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 3.คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขอรับไปดําเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างรอบด้านเพื่อชี้แจงให้สังคมได้ทราบ และ 4.มหาวิทยาลัยจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในมหาวิทยาลัย โดยเชื่อในแนวทางการปรึกษาหารือกันแบบสันติวิธี
“สภานิสิตจุฬาฯ”ค้าน ม.116 เอาผิด
ขณะที่สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ เรื่องท่าทีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีเนื้อหา ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมตามหลักนิติรัฐ จะต้องยึดเอาหลักกฎหมายและองค์ประกอบของความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นที่ตั้ง มิใช่ยึดถือเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้งแล้วพยายามหาข้อกฎหมายมาดำเนินคดีเพื่อหวังผลประการอื่น
“การจะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ใดๆ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องยึดเอากฎหมายเป็นหลัก หากการชุมนุมในลักษณะใดไม่ครบองค์ประกอบความผิด เช่น การชุมนุมที่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สมควรดำเนินคดีข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพราะหวังผลประการอื่น”
ดีอีเอสเก็บหลักฐานเอาผิด 114 ราย
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่าจากเหตุการณ์ชุมนุมล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งมีโพสต์เนื้อหาไม่เหมาะสมกระทบต่อจิตใจประชาชนคนไทย ตนได้สั่งให้รวบรวมหลักฐานที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 10-11 ส.ค. 2563 ปรากฏว่ามีโพสต์ที่ประชาชนแจ้งเข้ามา และตรวจสอบทางออนไลน์พบว่าเข้าข่ายความผิด รวบรวมได้ 114 URLs แยกเป็นเฟซบุ๊ค 75 URLs ทวิตเตอร์ 28 URLs ยูทูบ 11 URLs
ทั้งนี้จะมีการรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งศาลในวันที่ 11 ส.ค. และเมื่อมีคำสั่งศาล จะส่งให้แพลตฟอร์มทั้ง 3 เจ้า ถ้าภายใน 15 วันไม่ปิดหรือลบ จะดำเนินคดีทันที และปรับแพลตฟอร์มด้วย อัตราโทษไม่เกิน 200,000 บาท และรายวันไม่เกิน 5,000 บาท ต่อ URLs
กห.หวั่นจุดชนวนแตกแยก
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลกับสถานการณ์การชุมนุมที่มีการปลุกชี้นำไปสู่การเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อน อันจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเรียกร้องที่เกินขอบเขตต่อสถาบัน ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ การทำงานของฝ่ายความมั่นคงยังยึดมั่น และเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ถูกกำหนดควบคู่กับหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการชุมนุมที่แฝงไปด้วยข้อเรียกร้องที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนดังกล่าว จึงอาจนำมาซึ่งการเผชิญหน้าและเป็นอันตรายต่อความแตกแยกของผู้คนในสังคมวงกว้าง ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเตือนสติและช่วยควบคุมอารมณ์ทางสังคม
ตร.สั่งเฝ้าระวังชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค.
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ทางตำรวจเป็นกังวลการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบัน รวมถึงอาจมีการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่มีความเห็นต่าง จึงขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมคำนึงถึงกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เชื่อว่า ทุกคนทราบ ว่าอะไรทำได้หรือไม่
ส่วนการดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ที่พบการกระทำความผิดซ้ำ จะมีการเสนอศาลให้เพิกถอนการประกันตัวหรือไม่ เรามีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย หากพบความผิดต้องดำเนินการตามหน้าที่ และไม่มีการดำเนินการ 2 มาตรฐาน
ส่วนที่จะมีการนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 16 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่จะมีการเฝ้าระวังและรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มที่ พร้อมขอให้ผู้ชุมนุมศึกษาบทเรียนที่ผ่านมา
แจ้งเอาผิดอธิการบดีมธ.
ที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลุ่มรักแผ่นดินเกิด นำโดย นายบัญชา บุญพยุง หัวหน้ากลุ่ม ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะผู้จัดชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ฐานให้การสนับสนุนการชุมนุม และการปราศรัยที่จาบจ้วงก้าวล่วงสถาบัน
“ทั้ง รศ.เกศินี และ ผศ.ดร.ปริญญา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้ว จะกระทำเพียงการออกมาชี้แจง และแสดงความเสียใจขออภัย ขอโทษ ต่อประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และควรลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งในระดับบริหารอื่นทั้งหมด” นายบัญชา กล่าว
“กลุ่มแคร์”หนุนนศ.แสดงออก
กลุ่มแคร์ออกแถลงการณ์เรื่อง ความห่วงใยต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน ระบุว่า จากการที่เหล่านิสิต นักศึกษา นักเรียน เยาวชน และประชาชน ซึ่งบางประเด็นอาจสร้างความไม่สบายใจให้กับสังคม ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเรียกร้องดังกล่าว หากเรารับฟังด้วยใจที่เปิดกว้างจะรับรู้ได้ว่า นั่นเป็นเสียงเรียกร้องอย่างบริสุทธิ์ใจของประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศไทยเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม อีกทั้งยังอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย
กลุ่มแคร์สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เพราะชาติคือประชาชน ทุกคนจึงย่อมมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศชาติของตนเองได้