‘อาเซียน-อินเดีย’ ฝ่าโควิด พิชิตเป้าการค้า 2 แสนล้านดอลล์
“อินเดีย” หนึ่งในประเทศความร่วมมือที่อาเซียนมุ่งกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2564 แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการไปถึงจุดหมายที่วางไว้
ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ปี2561-2564 จัดการประชุมโต๊ะกลมกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการ นักธุรกิจและสื่อของอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “การเสริมสร้างความแข็งแกร่งความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระชับการค้า ท่ามกลางระบาดไวรัส ซึ่งจัดผ่านระบบการประชุมทางไกลในวานนี้ (20 ส.ค.)
ดอนกล่าวชูประเด็น 5 ด้าน ตามแนวทาง S-H-A-R-E คือ 1.ส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน (S-Supply Chain) ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต และผลักดันความเชื่อมโยงทางบก ผ่านโครงการถนน 3 ฝ่าย (อินเดีย-เมียนมา-ไทย) และส่วนต่อขยายไปยังลาว กัมพูชา และเวียดนามให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในไทยไปจนถึงท่าเรือดานังในเวียดนาม
2.ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ (H-Human Security) ในทุกมิติ โดยการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมความร่วมมือด้านการผลิตยาและเข้าถึงยาต้านโควิด-19 และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากอาเซียนและอินเดียต่างเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรระหว่างกัน
3.มุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการศึกษา (A-Academics) ส่งเสริมทักษะแรงงานด้านดิจิทัลในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคหลังโควิด-19 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
4.ส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยม (R-Regionalism) โดยดอนย้ำความสำคัญของการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีและความร่วมมือในกรอบภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น กรอบ แม่โขง-คงคา กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศลุ่มน้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเมคส์) สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA)
ดอนยังตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะประธานความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ในปี 2564-2565 เพื่อผลักดันการเจรจาการค้าเสรีบิมสเทคให้สำเร็จ หรือคืบหน้ามากที่สุด
และ 5.ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม (E-Environment) เน้นการส่งเสริมความเจริญเติบโตในภูมิภาคที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การประชุมนี้ เป็นเวทีระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นภูมิภาคที่สนใจร่วมกัน ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ล่าสุด อาเซียนและอินเดีย อยู่ระหว่างการเจรจาร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย เพื่อสันติภาพ ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ปี 2563-2567 เพื่อทดแทนฉบับปัจจุบันที่กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งแผนงานฉบับใหม่จะเป็นการวางกรอบการดำเนินการระหว่างอาเซียนกับอินเดียในระยะเวลา 5 ปี
การค้ารวมระหว่างอาเซียน-อินเดียในปี 2562 มีมูลค่า 7.98 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าการลงทุนระหว่างกันจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์
ในระยะที่ผ่านมา อินเดียมีความสนใจที่จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนผ่านทะเลอันดามัน โดยมีท่าเรือทวายของเมียนมาเป็นประตูสำคัญ สนับสนุนการสร้างทางหลวง 3 ฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และการขยายเส้นทางดังกล่าวไปยังกัมพูชา ลาว และเวียดนาม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย (Mekong-India Economic Corridor) ซึ่งครอบคลุมโฮจิมินห์-พนมเปญ-กรุงเทพ-ทวาย-เจนไน) เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดียฝั่งตะวันออก