ปตท.เดินหน้าลงทุนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มธุรกิจฝ่าวิกฤติ

ปตท.เดินหน้าลงทุนดิจิทัล  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจฝ่าวิกฤติ

ปตท.ลุยลงทุนดิจิทัล เสริมแกร่ง หนุนแผนรุกเอสเคิร์ฟ “อรรถพล” มั่นใจรัฐยังคงนโยบายเมดิคัล -สุขภาพเผยเตรียมเม็ดเงินใส่ เวนเจอร์ฟันด์กลุ่มสตาร์ทอัพพลังงานเพิ่ม โชว์ความสำเร็จใช้ดิจิทัลรุกธุรกิจใหม่ทั้งโดรน ขุดเจาะสำรวจ

หลักสูตร “Digital Transformation for CEO” โดยความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัทเอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมเพื่อสร้างความพร้อมของภาคธุรกิจในการรับมือภาวะการดิสรัปจากเทคโนโลยีดิจิทัล

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บรรยายหัวข้อ “The Rapid Transformation of The Leading Energy Business” ว่า ปัจจุบันทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ซึ่งกระทบต่อการทำธุรกิจที่จะต้องปรับตัวไปจากในอดีต โดย ปตท.ที่ธุรกิจหลักอยู่ในธุรกิจพลังงานเห็นแทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงไปในส่วนของการที่ธุรกิจพลังงานต้องปรับตัวรับกับกระแส “Go Green” และ “Go Electric” 

โดยอยู่บนหลักการของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถที่จะถูก Disrupted จากธุรกิจขนาดเล็ก เช่น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และการเติบโตของรถไฟฟ้า

ขณะที่บริษัทด้านเทคโนโลยีถือว่าเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วเห็นได้จากบริษัทที่อยู่ในการจัดอันดับของนิตยาสารฟอร์จูน 500 จากที่ในอดีตมีบริษัทพลังงานจำนวนมากแต่ปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่ในอันดับต้นจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านดิจิทัล เช่น บริษัท Apple กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก

ดังนั้น ปตท.ให้ความสำคัญการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในทุกส่วนธุรกิจของบริษัทภายใต้หลักการของ “Energy for all” เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนองค์กรอย่างโปร่งใสยั่งยืน ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการหาพาร์ทเนอร์ชิพ และสร้างแพลตฟอร์มในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และหาช่องทางส่งเสริมให้ธุรกิจดิจิทัลบริษัทในเครือเติบโตสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น 

ปตท.เร่งพัฒนาดิจิทัล

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ปตท.มีการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำธุรกิจหลายโครงการ เช่น การปรับปรุงระบบซัพพายเชนในกระบวนการผลิตของบริษัทตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงที่สุดในผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยการนำเอาระบบ APEX มาใช้วิเคราะห์กระบวนการผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพื่อรักษาคุณภาพของการขุดเจาะและส่งก๊าซให้กับลูกค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง 

รวมทั้งการนำเอาเทคโนโลยี Productive Maintenance ที่มีระบบ AI ช่วยวิเคราะห์การทำงานของเครื่องจักรที่สามารถช่วยให้การซ่อมบำรุงทำได้อย่างแม่นยำสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรไปได้ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท 

การใช้ยานยนต์ขนาดเล็กในการซ่อมบำรุงระบบท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ใต้น้ำของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รวมถึงการส่งเสริมให้พนักงานที่มีความสามารถศึกษาต่อยอดการใช้โดรน ซึ่งกลายเป็นธุรกิจย่อยอีกบริษัทของ ปตท.ที่สะท้อนความสำเร็จจากการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้และพัฒนาต่อยอดเป็นรายได้

นอกจากนั้น ปตท.ยังมีการรวบรวมข้อมูลในการซื้อขายน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ข้อมูลการติดต่อธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งข้อมูลของผู้ใช้บริการสถานีน้ำมัน ปตท. มาไว้ในลักษณะของ บิ๊กดาต้า เพื่อวิเคราะห์ทางธุรกิจทำให้สามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง เช่น การทำโปรโมชั่นให้กับลูกค้า การอนุมัติคำขอเรื่องการขยายสาขาคาเฟ่ อเมซ่อน พวกนี้จะมีระบบ AI มาช่วยวิเคราะห์จากฐานข้อมูลและบิ๊กดาต้าของบริษัท 

“ปตท.มุ่งมั่นในการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆของบริษัท แต่เราคงไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นเทคคอมพานี เพราะความถนัดของเราคือการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน หรือในส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟใหม่ เราสามารถทำได้เพราะมีบุคคลากรด้านนี้อยู่" 

เดินหน้าลงทุนดิจิทัลพลังงาน

ทั้งนี้ ปี 2563 มีแผนที่จะใส่เงินลงทุนเข้าไปในเวนเจอร์ฟันด์ ที่ทำในเรื่องดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน  เช่น เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ โดยการลงทุนพวกนี้ใช้เงินลงทุนไม่มากนักถ้าเทียบกับการลงทุนของบริษัทที่เป็น Capital Investment แต่ช่วยให้บริษัทมีเทคโนโลยีใหม่ด้านดิจิทัลที่นำมาใช้และอาจต่อยอดเป็นธุรกิจได้ในอนาคต

สำหรับทิศทางการลงทุนของ ปตท.ในอนาคต นายอรรถพลกล่าวว่านอกจากธุรกิจหลักของ ปตท.ในเรื่องของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี และธุรกิจเทรดดิ้ง ปตท.จะให้ความสำคัญในการเพิ่มการเติบโตของธุรกิจที่เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) ธุรกิจ New Enregy และธุรกิจในกลุ่มที่เป็น New S-Curve

ส่วนธุรกิจ Non-oil ที่ปัจจุบันเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ ปตท.จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขายในสถานีบริการในส่วนของยอดขายที่ไม่ใช่น้ำมัน โดยการที่จะทำแบบนี้ได้ต้องทำให้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.เป็นแพลตฟอร์มในการเข้ามาค้าขาย และเข้ามาซื้อสินค้าใช้บริการต่างๆที่อยู่ในสถานีบริการของ ปตท.มากขึ้น 

ส่วนธุรกิจ New Energy ปตท.ได้ให้ความสำคัญในส่วนของพลังงานทดแทน พลังงานไฟฟ้า และส่วนธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันที่จะลดลงต่อเนื่อง โดยช่วงต้นปีหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ร่วมกับบริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด (Thai Takasago Co., Ltd.) ประเทศญี่ปุ่นในการก่อสร้างก็จะแล้วเสร็จคาดว่าจะเริ่มทดลองในรูปแบบนำร่องได้ก่อนที่จะดูการตอบรับของตลาดว่าเป็นอย่างไรก่อนที่จะขยายผลไปทำตลาดเชิงพาณิชย์ 

ปตท.รุกธุรกิจยา-สุขภาพ

สุดท้าย คือ ธุรกิจ New S-Curve เป็นธุรกิจที่ ปตท.ใช้ศักยภาพบุคลากรของบริษัทที่มีอยู่ไปร่วมมือกับหน่วยงานและบริษัทต่างๆ ทำธุรกิจที่อาจไม่เกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ ปตท. 10% โดยโครงการที่ทำอยู่ในขณะนี้เช่นโครงการผลิตยาต่อต้านมะเร็งกับองค์การเภสัชกร

ส่วนโครงการอื่นของ ปตท.กำลังรอดูนโยบายการปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล แต่มั่นใจว่าธุรกิจยา สุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุขจะยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

นายอรรถพล กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปี 2563 ถึงปี 2564 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามทิศทางความต้องการใช้น้ำมันที่ยังไม่เพิ่มขึ้นนักเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 โดยส่วนที่จะยังมีความต้องการต่ำต่อเนื่องคือน้ำมันเครื่องบิน ที่การเดินทางระหว่างประเทศยังทำได้ยาก

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ถือว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นมากแล้ว แต่ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากซัพพายที่ยังล้นตลาดอยู่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นได้ยาก