มอง 'การเลือกตั้ง' ครั้งสำคัญใน 'สหรัฐ'
ส่องความเคลื่อนไหวการเมืองสหรัฐ และประเด็นที่น่าจับตามอง ก่อนที่ราว 10 สัปดาห์ข้างหน้า จะถึงเวลาเลือกประธานาธิบดี ชี้ขาดว่าระหว่างพรรคเดโมแครตที่ส่งโจ ไบเดน เข้าชิง และพรรครีพับลิกัน ที่ยังคงส่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใครจะเป็นผู้ชนะ
อีก 10 สัปดาห์ ชาวอเมริกันจะเลือกประธานาธิบดี สัปดาห์นี้พรรคเดโมแครตจัดประชุมใหญ่เพื่อส่งตัวแทนลงสนาม สัปดาห์หน้าพรรคริพับลิกันจะทำเช่นเดียวกัน นอกจาก 2 พรรคนี้แล้ว ไม่มีพรรคใดได้รับความสนใจเพราะไม่มีโอกาสได้คะแนนมากกว่าตัวแทนของ 2 พรรคใหญ่นี้แน่นอน
ในอดีต การประชุมใหญ่ทำกันในห้องประชุมขนาดยักษ์และเป็นกระบวนการสรรหาตัวแทนกันในตอนนั้นจริงๆ แต่ในสมัยนี้เป็นที่รู้กันล่วงหน้าแล้วว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรค เนื่องจากมีการคัดสรรกันมาล่วงหน้าแล้ว การประชุมใหญ่จึงเป็นงานพิธีที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นการหาเสียงแบบเข้มข้นของพรรคอย่างเป็นทางการ การประชุมใหญ่ปีนี้มีความแตกต่างกับปีก่อนๆ เพราะผู้เข้าร่วมมิได้ไปพบกันในห้องประชุม หากแยกกันอยู่ในบ้าน หรือในสำนักงานของตนเองและใช้เทคโนโลยีนำสมัยเชื่อมกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่หรือติดไวรัสโควิด-19
เป็นที่ทราบแน่นอนก่อนประชุมแล้วว่า พรรคเดโมแครตจะส่งอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นตัวแทนคู่กับวุฒิสมาชิกกมลา แฮร์ริส ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ส่วนพรรคริพับลิกันจะส่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงคู่กับรองประธานาธิบดีไมค์ เพนส์ อีกครั้ง
ผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2507 ซึ่งประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสันของพรรคเดโมแครตแข่งกับวุฒิสมาชิกแบร์รี โกลด์วอเตอร์ การเลือกตั้งครั้งนั้นสำคัญมากเนื่องจากจุดยืน 2 อย่าง นั่นคือนายจอห์นสันเต็มใจที่จะผลักดันให้ชาวอเมริกันผิวสีมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกับคนผิวขาวอย่างรวดเร็ว ส่วนนายโกลด์วอเตอร์บอกใบ้ว่าถ้าตนชนะ ตนอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เผด็จศึกในสงครามเวียดนาม ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ลงคะแนนให้นายจอห์นสัน
บริบทของการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัจจัยที่อาจใช้พิจารณาได้หลายอย่าง ปัจจัยสำคัญอันดับต้นน่าจะได้แก่ความตรงข้ามของตัวแทนของ 2 พรรคใหญ่ในด้านสีผิว ย้อนไปดูการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ในปี 2551 และปี 2555 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ชนะซึ่งผมมองว่าสำคัญยิ่งในประเทศที่เคยมีคนผิวสีเป็นทาสและการรังเกียจคนผิวสียังมีอยู่ ทั้งนี้เพราะนายโอบามาเป็นลูกผสมระหว่างคนผิวดำชาวเคนยา ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัยอยู่ในสหรัฐกับหญิงผิวขาวชาวอเมริกัน
การที่นายโอบามาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้เป็นเสมือนการยืนยันในอุดมการณ์ของสหรัฐที่ว่าคนเราเท่าเทียมกัน ผู้มีความสามารถจึงมีโอกาสเป็นประธานาธิบดีแม้จะมีผิวสีก็ไม่เป็นอุปสรรค เมื่อปี 2559 นายทรัมป์ชนะ ทั้งที่มีจุดยืนเชิงประจักษ์ว่ารังเกียจผิว
เนื่องจากวุฒิสมาชิกแฮร์ริส เป็นสตรีผิวสีที่เกิดจากพ่อผิวดำผู้อพยพจากจาเมกาไปอยู่ในสหรัฐ ส่วนแม่อพยพไปจากอินเดีย การรังเกียจผิวดูจะยังมีมากเนื่องจากในช่วงนี้มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ชี้ชัดว่าการรังเกียจผิวยังฝังลึกอยู่ในใจของชาวอเมริกันผิวขาวและจะเป็นปัจจัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ เหตุการณ์ใหญ่ได้แก่ตำรวจผิวขาวฆ่าคนผิวดำอย่างเลือดเย็น ท่ามกลางสายตาของประชาชนเมื่อเดือน พ.ค.
เหตุการณ์อันแสนป่าเถื่อนนั้นนำไปสู่การประท้วงอย่างแพร่หลายในสหรัฐ พร้อมกันนั้นก็มีชาวอเมริกันผิวขาวจำนวนมากออกมาต่อต้านการประท้วงอย่างกว้างขวาง รวมทั้งในเมืองขนาดเล็กในรัฐนิวยอร์กตอนเหนือที่ผมรู้จักดีและไม่เคยคิดว่าจะมีการรังเกียจผิวหลงเหลืออยู่ การประท้วงและการต่อต้านนำไปสู่การปะทะกันถึงขั้นบาดเจ็บ
ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ถ้านายทรัมป์ชนะ มองได้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังรังเกียจผิวจริงๆ อย่างแพร่หลาย และการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของนายโอบามา เป็นเพียงปรากฏการณ์ผิดปกติเพียงชั่วแล่น มิใช่เป็นตัวชี้บ่งว่าการรังเกียจผิวได้ใกล้หมดไปแบบแทบไม่มีรากเหง้าเหลืออยู่
หากนายไบเด็นชนะ มองได้ว่าการชนะการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่แล้วของนายทรัมป์เป็นปรากฏการณ์ผิดปกติชั่วคราวและสหรัฐยังพัฒนาไปตามอุดมการณ์ ฉะนั้น การรังเกียจผิวจะลดลงต่อไปและในเวลาอีกไม่กี่ปี คนผิวสีจะได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง