โควิด พลิก 2 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ดิจิทัลทรงพลัง คนกังวลใช้จ่าย-สุขภาพ
ห้วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลกและลามไทย ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจ ธุรกิจเสียหาย แต่ยังเป็นปฏิกิริยา “เร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การทำตลาดอย่างมากด้วย
ในงานสัมมนา iCreator Conference 2020 ภายใต้ธีม Next Gen and Legend จัดโดย Rainmaker หยิบหัวข้อมากมายมาอัพเดทเทรนด์ให้นักการตลาด ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา(Content) ได้รับรู้เพื่อไม่ให้ตกขบวน หนึ่งในประเด็นที่หน้าสนใจคือการ “เปิดข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึกหลังยุคโควิด-19” โดย สโรจ เลาหศิริ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง แรบบิทส์เทลล์ ในเครือแรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดและผู้บริโภคหลังโควิดอยู่กับคนไทยมาร่วม 5 เดือนแล้ว
สโรจ ย้ำ 2 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อการทำตลาดของแบรนด์สินค้าและบริการ ดังนี้ 1.ถึงเวลาที่ทุกคนวิ่งเข้าหาดิจิทัลอย่างแท้จริง ประเด็นนี้ถูกหยิบมาเล่าติดตลกและตั้งคำถามว่า...ใครคือผู้นำในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล? ตัวเลือกมีตั้งแต่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี(CTO) หรือโรคโควิด-19(COVID-19) แน่นอนคำตอบคือ โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่ง หากซีอีโอไม่ทรานส์ฟอร์มหรือเปลี่ยนผ่านองค์กร ย้ายสำมะโนครัวไปสู่ดิจิทัลอาจตกขบวน
เหตุผลเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงแซงหน้าไปแล้วทั้งการชอปปิงออนไลน์หลากแพลตฟอร์ม เฉพาะสถิติการใช้จ่ายผ่านลาซาด้าเพิ่มขึ้น 100% ใช้เวลา 11 นาที มากขึ้น 11% นักช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้น 60% หน้าใหม่เข้ามาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์(E-wallet)เพิ่ม 5% พ่อค้าแม่ขายออนไลน์เกิดใหม่ 26,000 ราย เพิ่ม 13%
ช่วงกักตัวป้องกันโควิด-19แพร่ระบาด สื่อสังคมออนไลน์มีการเติบโตต่อเนื่อง แอ๊พพลิเคชั่นสั่งอาหารเดลิเวอรี่ และยังเห็นแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆแจ้งเกิดกลายเป็นกระแสอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นผู้บริโภค ตลอดจนคนดังต่างตบเท้าสร้างสรรค์เนื้อหาหรือเป็นคอนเทนท์ ครีเอเตอร์ ดึงคนดู ไม่ว่าจะเป็น “ติ๊กต็อก”(TikTok) รวมถึงแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอคอนเทนท์ทั้งหนัง ซีรี่ส์อย่าง “เน็ตฟลิกซ์” เติบโตอย่างมาก สื่อและความบันเทิง การพูดคุยผ่านวิดีโอ การประชุมออนไลน์ถูกนำมาใช้งานเพิ่มขึ้น เป็นต้น
“แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างติ๊กต็อกได้รับความนิยมสูงเป็นประวัติการณ์ ครีเอเตอร์หน้าใหม่เต็มไปหมด ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคเมื่อใช้และคุ้นชิ้นแพลตฟอร์มไหน นักการตลาดต้องตามไปสำรวจพฤติกรรมความต้องการเชิงลึก เพื่อหาโอกาสสื่อสารการตลาด”
2.การกลับมาโฟกัสคุณค่าและสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตจริงๆ ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด สิ่งที่ผู้คนกังวลมีทั้งเรื่องส่วนตัว ชุมชน สังคม และระดับโลกมีมากมาย เช่น ตนเองมุ่งเรื่องพัฒนาตนเอง ให้ประสบความสำเร็จ การบุลลี่ ความหลากหลาย ประเด็นเพศที่หลากหลาย(LGBTQ)การเมือง การรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนระดับโลก กังวลเรื่องโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจโลกที่หดตัว เป็นต้น
ทว่า หลังโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือผู้คนกลับมาทบทวนและโฟกัสคุณค่าและให้ความสำคัญสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตใหม่ ซึ่งเริ่มจากตัวเอง คือห่วงฐานะทางการเงินมากขึ้น ทำให้เกิดการประหยัดและควบคุมการใช้จ่ายเงินทองกว่าเดิม การสานฝันและสร้างความมั่นคงต้องสมดุลมากขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพปลอดภัยสำคัญมาก นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาเพิ่มทักษะใหม่ๆให้ตนเอง รวมถึงยกระดับสู่ไลฟ์สไตล์ดิจิทัล
ด้านชุมชน มีการรักษาระยะห่าง เห็นอกเห็นใจกัน อยากช่วยเหลือชุมชน ด้านสังคม ต้องการช่วยเหลือเศรษฐกิจประเทศ รักษาเศษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวหลังจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และระดับโลก ผู้คนกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยมากขึ้น ควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้ผ่านพ้นไปได้
“พอธุรกิจ ผู้คนได้รับผลกระทบวงกว้าง ทำให้คนไทยอยากกลับมาซัพพอร์ตเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเมืองไทย ส่วนระดับโลกห่วงเศรษฐกิจถดถอยและการคุมโรคระบาด จากก่อนหน้านี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญมาก แต่ตอนนี้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุที่ใช้แล้วทิ้ง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพตนเองและครอบครัว”
สถานการณ์ข้างต้น สโรจ ทิ้งคำแนะนำการทำคอนเทนท์เจาะผู้บริโภค จังหวะนี้ไม่มีใครรู้โควิดระลอก 2 จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ครีเอเตอร์ต้องสร้างสรรค์เนื้อหาสต๊อกไว้ เพราะคนที่พร้อมเท่านั้น จะคว้าโอกาสตลาดไว้ได้ เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้าและบริการ ผู้บริหารต้องวางแผน “ซ้อม” ไว้เช่นกัน หากธุรกิจถูกล็อกดาวน์อีกรอบ หากไร้กลยุทธ์เพื่อรับมือความเสี่ยง อาจลำบาก
อย่างไรก็ตาม หลังแบรนด์อั้นทำตลาดหลายเดือน ไตรมาส 3-4 เริ่มเห็นการฟื้นทำแคมเปญต่างๆ เร่งสร้างยอดขาย ตุน “กระแสเงินสด” เพราะที่ผ่านมา ไวรัสร้ายทำให้บางธุรกิจ “จนลง” และบางธุรกิจเติบโต