บินไทย เตรียมเปิดบ้านลงทะเบียนรับชำระหนี้
ศาลล้มละลายกลางนัดวันพิพากษา “การบินไทย” ยื่นล้มละลาย 14 ก.ย.นี้ ล่าสุดผู้ยื่นคัดค้าน ขอถอนคำคัดค้านรวม 5 ราย ด้าน “ชาญศิลป์” เตรียมเปิดสำนักงานใหญ่ รับเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลล้มละลายกลาง โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้นัดไต่สวนพยาน ผู้คัดค้าน ในคดีหมายเลขดำที่ฟฟ10/2563 ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้ร้องขอ และเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน โดยศาลได้นัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 11 รวม 1 ปาก คือ นางสาวศรีไพร ดวงดี ทั้งนี้ทนายผู้ร้องขอถามค้านพยานปากนี้จนจบปาก แล้วทนายผู้คัดค้านที่ 11 แถลงติดใจไต่สวนเพียงเท่านี้
อย่างไรก็ดี ภายหลังการไต่สวนพยานดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 14 ก.ย.2563 เวลา 10.00 น. โดยอนุญาตให้ผู้ร้องขอและผู้คัดค้านยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีได้ภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจ
สำหรับการนัดไต่สวนในครั้งนี้ ผู้รับมอบฉันทะทนายผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 10 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 ว่าไม่ประสงค์จะคัดค้านคำร้องขอ ซึ่งระบุถึงเหตุผลของไม่ถอนคัดค้าน เนื่องจากลูกหนี้ได้ติดต่อมายังเจ้าหนี้ และได้มอบVoucher(วอยเชอร์) เป็นการRefund(รีฟันด์) แก่เจ้าหนี้แล้ว จึงขอถอนการคัดค้านฟื้นฟูกิจการ
โดยศาลได้สอบทนายผู้ร้องขอแล้ว ทนายผู้ร้องขอชี้แจงว่า ที่ระบุในคำร้องขอถอนคำคัดค้านว่าลูกหนี้ผู้ร้องขอได้ติดต่อผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 เพื่อส่งมอบวอยเชอร์นั้น ไม่เป็นความจริง ลูกหนี้ผู้ร้องขอไม่เคยติดต่อไปหาผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 ตามคำร้องที่ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 อ้างต่อศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ การให้วอยเชอร์ดังกล่าวแก่กลุ่มลูกค้ารีฟันด์ เป็นนโยบายโดยทั่วไปของลูกหนี้อยู่แล้ว แต่ในขั้นนี้ไม่ติดใจคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 ศาลจึงอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 7 ถอนคำร้องคัดค้านตามขอ
ส่วนบรรยากาศของการไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 11 นั้น ทนายผู้ร้องได้สอบพยานในประเด็น อาทิ กรณีที่เจ้าหนี้ให้ข้อมูลว่าลูกหนี้มีการจำหน่ายบัตรโดยสารราคาสูงกว่าสายการบินอื่น แต่กับมีบริการที่ไม่แตกต่างหรือใกล้เคียงกับสายการบินอื่น ซึ่งในส่วนนี้ ทางเจ้าหนี้ได้ชี้แจงว่า ได้ทราบข้อมูลดังกล่าวมาจากข่าวที่มีการเผยแพร่ช่องทางสาธารณะ
อีกทั้งทนายลูกหนี้ผู้ร้องขอยังได้สอบพยานเกี่ยวกับข้อมูลที่เจ้าหนี้เสนอว่าลูกหนี้ไม่ควรเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ควรปล่อยให้ล้มละลายนั้น เจ้าหนี้ทราบหรือไม่ว่าการปล่อยให้ล้มละลายนั้นดีกว่าอย่างไร โดยประเด็นคำถามนี้ พยานเจ้าหนี้ตอบเพียงว่าจากคำร้องที่ยื่นไปนั้น เป็นข้อมูลที่นำมาจากการเผยแพร่ในสาธารณะ
นอกจากนี้ทนายฝ่ายลูกหนี้ผู้ร้องขอ ยังสอบถามด้วยว่าพยานเจ้าหนี้ทราบหรือไม่ว่าในกรณีที่การบินไทยปิดกิจการจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีถึง 7.9 แสนล้านบาท โดนส่วนนี้พยานเจ้าหนี้ตอบเพียงว่าไม่ทราบ เช่นเดียวกันประเด็นคำถามของทนายฝ่ายลูกหนี้ที่สอบถามว่า หากการบินไทยซึ่งเป็นลูกหนี้ต้องปิดกิจการพนักงาน 2 หมื่นคนจะได้รับผลกระทบจากการตกงาน โดยส่วนนี้พยานเจ้าหนี้ได้ตอบคำถามว่าไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลได้ทำการไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 17 ส.ค.และวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมการสืบพยานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้มีเจ้าหนี้ของการบินไทยยื่นคัดค้านฟื้นฟูกิจการรวม 16 ราย 16 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เจ้าหนี้ถือบัตรโดยสาร 2.เจ้าหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด 3.เจ้าหนี้จากบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
โดยระหว่างการไต่สวนพยานผู้ร้องขอและสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน เจ้าหนี้ผู้คัดค้านได้ยื่นถอนคำคัดค้านรวม 5 ราย ประกอบไปด้วย ผู้คัดค้านที่ 4 ผู้คัดค้านที่ 5 ผู้คัดค้านที่ 7 ผู้คัดค้านที่ 8 และผู้คัดค้านที่ 16 หรือเจ้าหนี้จากบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ในส่วนของประเด็นที่เจ้าหนี้ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อซักถามพยานลูกหนี้ และมีการไต่สวนสืบพยานไปก่อนหน้านี้ มีประเด็นสำคัญที่ถูกสอบถามอย่างมาก อาทิ การตั้งบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเพราะไม่มีประสบการณ์การทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทและต้องมาทำแผนฟื้นฟูกิจการธุรกิจระดับแสนล้านบาท รวมทั้งเป็นคนละบริษัทกับบริษัทอีวาย ผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก
รวมไปถึงความเหมาะสม และขอบเขตงานของบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมทั้งค่าตอบแทนที่บริษัทอีวายฯจะได้รับจากบริษัทการบินไทยเดือนละ 15 ล้านบาทว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และประเด็นข้อกังวลของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินของการบินไทย รวมถึงสภาพคล่องในการดำเนินงาน รวมถึงแผนการชำระหนี้หากการบินไทยไม่สามารถจะฟื้นฟูได้จะมีแผนใช้หนี้อย่างไร
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วานนี้ (25 ส.ค.) ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการการบินไทยเป็นนัดสุดท้าย โดยมีทนายฝ่ายการบินไทยเป็นผู้ถามค้านพยานต่อศาล ซึ่งมีเจ้าหนี้ผู้คัดค้านที่ 11 คือ บริษัท ดาต้าโปรดักส์ทอปปัง ฟอร์ม จำกัด นำเสนอพยานขึ้นเบิกความต่อศาล สำหรับภาพรวมกระบวนการไต่สวนคำร้องในวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี
โดยศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในวันที่ 14 กันยายน 2563 เวลา 10.00 น. อย่างไรก็ดีเมื่อกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นและศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการพร้อมตั้งคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ กรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนีhซึ่งเจ้าหนี้สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่บ้าน หรือจะนำเอกสารมาที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อที่การบินไทยและกรมบังคับคดีจะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ ซึ่งการบินไทยจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ต่อไป โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้หากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผน การบินไทยจะเชิญเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆมารับฟังการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อไป