'กมธ.ติดตามงบ' ท้วงซื้อ 'เรือดำน้ำ' ต้องคิดให้รอบคอบ
"ไชยา" ติง "รัฐบาล-กองทัพเรือ" ต้องคิดให้รอบคอบ อย่ามองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าต้องการโจมตีรัฐบาลและกองทัพเรือ
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ประชาชนเข้าใจดีในหน้าที่หลักของกองทัพเรือเพื่อป้องกันประเทศทางทะเล สำหรับการจัดหาอาวุธเพื่อป้องกันประเทศทางทะเลนั้นจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในมิติต่างๆให้รอบคอบอย่างมีเหตุผลและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างซบเซามายาวนานและผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะจบสิ้นเมื่อใด ประชาชนตกอยู่ในสภาพทำมาหากินลำบาก ธุรกิจขยายกลางขนาดเล็กต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณที่ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี อยากให้กองทัพเรือได้ทบทวนและเข้าใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นจริง ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายไชยา กล่าวว่า ถ้าประเทศเรามีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีเงินไม่จำกัดและสถานการณ์เอื้ออำนวย เราอยากซื้ออะไร มากน้อยแค่ไหนก็ทำได้ แต่ถ้าฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไม่เอื้ออำนวย การใช้จ่ายเงินเกินตัวอาจเป็นอันตรายต่อฐานะทางการเงินของประเทศ การซื้อเรือดำน้ำที่ต้องผูกพันงบประมาณหลายปี ย่อมส่งผลกระทบความต่อการบริหารงบประมาณของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพเรือเองซึ่งอาจกระทบต่อภารกิจอื่นของกองทัพเรือเช่นกัน ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลและกองทัพเรือทบทวนและรับฟังข้อมูลรอบด้าน อย่ามองว่าเป็นการเสียหน้าหรือเป็นเรื่องโจมตีทางการเมือง
นายไชยา กล่าวอีกว่า อยากให้พิจาณาด้วยความรอบคอบถึงความคุ้มค่า เพราะการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนในครั้งนี้ อาจไม่เหมาะที่จะใช้งานในอ่าวไทย เพราะเรือต้องการความลึกที่ปลอดภัยในระดับ 50 เมตรขึ้นไป ในขณะที่พื้นที่อ่าวไทยมีความความลึกเฉลี่ยประมาณ 44 เมตรเท่านั้น และมีเนื้อที่ในส่วนที่เป็นเขตเศรษฐกิจน่านน้ำไทยประมาณ 2 แสนตารางกิโลเมตร (กรมทรัพยากรธรณี, 2555) ซึ่งเหลือพื้นที่แคบมากสำหรับการปฏิบัติการใต้น้ำ อีกทั้งเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่มีความลึกปลอดภัย (safe depth) ประมาณ 60 เมตรจะไม่สามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้ตั้งแต่ครึ่งอ่าวไทยตอนบน และถ้าจำเป็นที่ต้องจัดหาในอนาคต ควรเป็นเรือที่ปฏิบัติการใต้น้ำได้ทั่วทั้งอ่าวไทยและนอกอ่าวไทย ที่เรียกว่า เรือดำน้ำชายฝั่ง (coastal submarine) และเรือดำน้ำจิ๋ว (midget submarine) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและประหยัดงบประมาณกว่า
"รัฐบาลและกองทัพเรือ ไม่ควรอ้างถึงเรื่องความมั่นคงทางกองทัพอย่างเดียว หรือมองว่าประเทศอื่นเขามีและเราจะต้องมีตามเขา เพราะความจำเป็นของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน สถานการณ์ในวันนี้ควรชะลอการสั่งซื้อหรือยืดระยะเวลาออกไป ให้สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นและโอกาสเอื้ออำนวยมากกว่านี้ จะเป็นผลดีสำหรับประเทศในภาพรวม อีกทั้งในโลกสมัยใหม่การสร้างดุลอำนาจทางการเมืองและทางการทหาร ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีอาวุธเหนือกว่าใคร แต่อยู่ที่การสร้างดุลอำนาจบนโต๊ะเจรจาทางการทูตมากกว่า จึงอยากให้รัฐบาลและกองทัพเรือรับฟังด้วยเหตุผลโดยปราศจากการมีอคติกับคนที่เห็นต่างในเรื่องนี้" นายไชยา กล่าว