กยท. ดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตถุงมือยางธรรมชาติ
กยท. ดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตถุงมือยางธรรมชาติ จับมือ บีโอไอ ต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมแปรรูปยางของไทย ขณะนี้มีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งถือเป็น โปรดักส์แชมป์เปี้ยนในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปยางของประเทศไทย โดยมีน้ำยางซึ่งมีการผลิตในประเทศเป็นวัตถุดิบหลักผลักดันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยางของประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของโลก โดยจะผลักดันให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก
ทั้งนี้ กยท. ร่วมมือและบูรณาการกับหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบอย่างยั่งยืน อาทิ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การหาแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในกิจการยางพารา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และด้านการบริการสนับสนุนธุรกิจผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึง กระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดันเรื่องการตลาด การลงทุน และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์ยางของไทย โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อถุงมือยางการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และนักลงทุนในต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์ถุงมือยางปัจจุบันที่มีกระแสข่าวการผลิตถุงมือยางที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างความเสียหายและมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของถุงมือยางไทยที่ส่งไปต่างประเทศ และต่อสายตาผู้บริโภค ดังนั้น กยท. จะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน เข้มงวด ตรวจจับ และดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ และมาตรฐาน เพื่อควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ผลิตและส่งออกของไทยให้ได้มาตรฐานสากลโลก
นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนายการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า การวิจัยเรื่องลดปริมาณโปรตีนที่ละลายน้ำในถุงมือยางธรรมชาติให้ได้ต่ำกว่า 200 ไมโครแกรม ตามมาตรฐานที่ ASTM กำหนด โดยคุณสมบัติทางกายภาพยังคงเหมือนเดิม ขณะนี้ การวิจัยดังกล่าวผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบในระดับโรงงาน จึงเชื่อว่าถุงมือยางของประเทศไทยมีความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้
นอกเหนือจากเทคโนโลยีการควบคุมปริมาณโปรตีนในถุงมือยางธรรมชาติแล้ว ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักร ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้ทัดเทียมคู่แข่ง มีการกำหนดมาตรฐานรับรองที่ชัดเจน รวมไปถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบกำหนดมาตรฐาน โดยก้าวต่อไปจะมีการร่วมบูรณาการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีถุงมือยาง ของหลายภาคส่วน เช่น กยท. MTEC กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง ควรวางยุทธศาสตร์ร่วมกันในทุกมิติ ให้ข้อมูลที่สำคัญแสดงให้เห็นว่า ถุงมือยางธรรมชาติของไทยปลอดภัยต่อผู้ใช้ จึงขอความร่วมมือในทุกภาคส่วนในการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ซื้อ ผู้ใช้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศรับรู้
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางความต้องการของถุงมือยางธรรมชาติมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยตัวเลขคาดการณ์ในปี 2563 มีความต้องการใช้กว่า 3.6 แสนล้านชิ้น
สำหรับการทำตลาดถุงมือยางธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้ทางรัฐบาลใช้น้ำยางพาราของไทย ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งของการส่งออก นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางพาราแท้ 100 % รวมถึงการกำหนดมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนให้กับต่างชาติที่มีความต้องการตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางธรรมชาติในประเทศไทย จะต้องใช้น้ำยางข้นของไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น
“สร้าง Presenter ที่มีความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้มีชื่อเสียง นำเสนอการใช้ถุงมือที่ผลิตจากยางธรรมชาติผ่านสื่อตามช่องทางต่างๆ สร้างความเชื่อมั่น ใช้ PR Marketing ให้ถุงมือยางพาราจากประเทศไทย เป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ สร้างความโดดเด่นของถุงมือยางธรรมชาติ โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์ covid 19 สื่อสารให้เกิดการรับรู้ถึงประโยชน์ คุณสมบัติ ข้อดี ของถุงมือยางธรรมชาติ”
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ให้ความเห็นว่า หากอ้างอิงจากปริมาณการส่งออกถุงมือยางของไทย ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-15% จึงเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสที่ดีของผู้ประกอบอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย รวมไปถึงกลุ่มประเทศผู้ใช้ถุงมือยางรายใหม่ที่มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ระบาดของโรค Covid-19 อาทิ ประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศตะวันอออกกลาง
ดังนั้น ภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตถุงมือยางพาราให้มากขึ้น เพื่อใช้สำหรับปรับปรุงเครื่องจักร ขยายกำลังการผลิต ประกอบกับปัจจุบันผู้บริโภคให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่ตรงความต้องการส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ ดังนั้น ปริมาณความต้องการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จึงสูงขึ้นตามไปด้วย หากมีการส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบจากยางธรรมชาติในประเทศไทยให้มากขึ้นจะถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ และเศรษฐกิจของประเทศย่อมดีขึ้นด้วย