'จีน' หนุน 'ไทย' สำรวจเส้นทางการค้าใหม่ 'ล้านช้าง-แม่โขง'
“จีน “สนับสนุนความพยายามของ “ไทย” ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานชายแดน และการสำรวจเส้นทางการค้าใหม่ระหว่างภูมิภาค “ล้านช้าง-แม่โขง”
นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวเมื่อวันอังคาร (25 ส.ค.) ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว หลังการประชุมผู้นำความร่วมมือ "ล้านช้าง-แม่โขง" (LMC) ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นในวันจันทร์ (24 ส.ค.) ซึ่งการประชุมได้กำหนดแผนความร่วมมือระดับภูมิภาคและมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาในภูมิภาคแห่งนี้
เขากล่าวว่าคณะทำงานร่วมของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดน "ล้านช้าง-แม่โขง" กำลังวางแผนความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเสริมว่าจีนสนับสนุนไทยในการจัดตั้งโครงการกองทุนความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาค
หยาง กล่าวว่าจนถึงขณะนี้มีการดำเนินโครงการกองทุนพิเศษมากกว่า 300 โครงการแล้ว และมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมอีกเกือบ 30 โครงการอยู่ภายใต้กลไกของความร่วมมือดังกล่าว
โครงการกองทุนพิเศษความร่วมมือ "ล้านช้าง-แม่โขง" (LMC) ของไทยจำนวนมากมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดน การสื่อสารทางธุรกิจ และอีคอมเมิร์ซในชนบท จีนกำลังเสาะหาเส้นทางการค้าใหม่โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ด้วยความหวังว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดไมโคร ผู้ประกอบการธุรกิจและเกษตรกรในภูมิภาค อุปทูตกล่าว
หยาง เชื่อว่าการพัฒนาความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง จะทำให้ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในภาคส่วนต่างๆ เช่นอีคอมเมิร์ซ ได้รับโอกาสใหม่ๆ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในภูมิภาค
เมื่อพูดถึงประเด็นการค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีน ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา หยางกล่าวว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขงกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและความร่วมมือระดับภูมิภาคกำลังมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเสริมว่าพวกเขาต่างมีความต้องการร่วมกันในการแสวงหาการพัฒนาและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
จีนและไทย ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน หยางกล่าวพร้อมระบุว่าคณะทำงานร่วมในประเด็นสำคัญ เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน กำลังการผลิต และความเชื่อมโยง ได้จัดทำแผนระยะกลางและระยะยาวสำหรับอนุภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง
ในการประชุมครั้งนี้ จีนได้เสนอให้ผนึกกำลังความร่วมมือนี้กับ ระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบก-ทะเลใหม่ เพื่อใช้เป็นเวทีสำหรับการพัฒนาอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค
'ล้านช้าง' และ 'แม่โขง' นั้นหมายถึงแม่น้ำสายเดียวกัน โดยจีนเรียกว่าล้านช้าง ส่วนไทยเรียกว่าแม่โขง เป็นแม่น้ำที่ไหลออกจากมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ผ่านประเทศเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
หยางกล่าวว่าความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำเป็น 1 ใน 5 วาระสำคัญของการประชุมความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง และกลไกความร่วมมือดังกล่าวก็ก้าวหน้าไปตามกาลเวลา หยางเสริมว่าคณะทำงานร่วมได้จัดทำแผนงาน 5 ปี และได้เปิดตัวศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ "ล้านช้าง-แม่โขง" อย่างเป็นทางการ
ในการประชุมผู้นำความร่วมมือครั้งล่าสุด จีนได้ปฏิญญาณว่าจะแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาประจำปีของแม่น้ำล้านช้างแก่ประเทศในลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
ด้านการบรรเทาความยากจน หยางกล่าวว่าจีนกำลังดำเนินการตามแผนลดความยากจนแบบพิเศษ ซึ่งจะดำเนินโครงการความช่วยเหลือ 100 โครงการเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงภายใน 3 ปี
จีนยังสนับสนุนการบรรเทาความยากจนในประเทศลุ่มน้ำโขงผ่านกองทุนพิเศษด้วย ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ของไทยภายใต้กองทุนเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิตของผู้คน เฉกเช่นโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนป่าไม้ในหมู่บ้าน 9 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
หยาง กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงจึงกลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับประเทศในภูมิภาคแห่งนี้สำหรับการหารือเกี่ยวกับแผนความร่วมมือและการรักษาความยุติธรรมระหว่างประเทศ พร้อมเสริมว่าทุกฝ่ายต่างยืนยันจะให้การสนับสนุนการค้าเสรี และพหุภาคีในการประชุมผู้นำความร่วมมือนี้