แม้แต่ยักษ์ใหญ่ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่มีเครือข่ายกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศเป็นผู้นำอย่างเด็ดขาดในตลาดร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ หรือ คอนวีเนียนสโตร์ แบบทิ้งห่างคู่แข่งเบอร์ 2 อย่างไม่เห็นฝุ่น! ยังยึดมั่นในแนวคิดปรับตัวตลอดเวลา!
การปรับตัวตลอดเวลา! เป็นกรอบยุทธศาสตร์บนเส้นทางธุรกิจกว่า 3 ทศวรรษของ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ Big Change! รองรับการแข่งขันและพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่าางกันในแต่ละช่วงเวลา
ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และ ออลล์ ออนไลน์ (ALL Online) กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จาก “เทคโนโลยีเปลี่ยน” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแบบพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่ผ่านมาเปลี่ยนแบบง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนแปลงยังรวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภค วิถีชีวิต คู่แข่ง และปี 2020 หรือ ปี 2563 นี้ “วิกฤติโควิด” ที่มาเยือนแบบไม่คาดฝันยังเป็นตัวเร่งปฎิกิริยาการเปลี่ยนแปลง
“หากไม่ปรับตัวคนอื่นก็มาแทนที่เรา! ยิ่งเวลานี้ธุรกิจยังถูกซ้ำเติมด้วยมรสุมเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง ผู้คนตกงาน โรงงานปิดตัว โรคระบาดโควิดยังทำให้นักท่องเที่ยวหาย ทุกอย่างที่เตรียมไว้ 5 ปี หดเหลือ 2 เดือน แต่ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ เราต้องปรับตัวให้เร็ว จาก Change ช้าๆ ต้อง Change ให้เร็ว”
การแพร่ระบาดของโรคร้ายครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า “โควิด” และ “เทคโนโลยี” ต่างซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ผู้คนและธุรกิจที่มีปัญหาล้วนกระโดดเข้ามาใช้เทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ นิวนอร์มอล (New Normal)
โดย “เซเว่น อีเลฟเว่น” มีการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาเสริมในการขับเคลื่อนธุรกิจ จากเดิมลูกค้าใช้ “เงินสด” ในการซื้อสินค้า จากมาตรการสุขอนามัย ได้มุ่งสร้างสังคมไร้เงินสด ร่วมกับ ทรูมันนี่วอลเล็ต (True Money Wallet) เพิ่มบริการ “สั่ง” และ “ส่ง” สินค้า หรือ เซเว่น ดีลิเวอรี (7 Delivery) หรือเคยขายสินค้าเป็นถ้วยได้ปรับเป็นแพ็คใหญ่รองรับผู้คนที่อยู่บ้านมากขึ้น ออกนอกบ้านน้อยลง
ก้าวเข้าสู่โมเดลธุรกิจล่าสุดในยุคปี 2020 ภายใต้คำจำกัดความ "ออลล์ ออนไลน์” (ALL Online) ที่มีสโลแกน “สะดวกครบ จบที่เดียว” ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใหม่ และสะดวกซื้อ-จ่าย-รับ ทุกที่ทุกเวลา รองรับโอกาสทางการตลาดจากฐานลูกค้ามากกว่า 14 ล้านคนต่อวัน
ยุทธศักดิ์ ย้อนถึงเส้นทางธุรกิจเซเว่นอีเลฟเว่น สะท้อนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลง! สู่การเติบโตในวันนี้
เซเว่นอีเลฟเว่น เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐ เป็นร้านจำหน่ายน้ำแข็ง ก่อนจะพัฒนาเป็นร้านสะดวกซื้อเล็กๆ ที่มีสินค้าอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเปิดให้บริการในช่วงเวลา 7.00 AM-11 PM จึงเป็นที่มาของชื่อร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-11) พร้อมปรับสู่บริการ 24 ชั่วโมงเป็นจุดขายจากนั้นจนถึงปัจจุบัน
จากฟากตะวันตกของโลกขยายธุรกิจสู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการนำระบบขายหน้าร้าน POS (Point of sale) ที่เป็นมากกว่าเครื่องคิดเงิน คือ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลลูกค้านั่นเอง
ต่อมาเปิดตลาดในเมืองไทย เมื่อปี 2531 ในคอนเซปต์เริ่มแรก “ใกล้แต่ไม่เคยปิด” (Close But Never Closed) ปักหมุดสาขาแรกย่านถนนพัฒน์พงษ์ เป็นทำเลอยู่ได้ 24 ชั่วโมง โดยช่วงเช้ามีพนักงานออฟฟิศ ลูกค้าโรงพยาบาล โรงเรียน กลางคืนเป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง สามารถให้บริการความสะดวกในการซื้อสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง
โครงสร้างของประชากรไทย หรือกลุ่มลูกค้าของเซเว่น อีเลฟเว่น อายุ 5-25 ปี ในเวลานั้น เวลาเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าก็เปลี่ยน! จากอายุ 5 ปี เป็น 35 ปี เป็นกลุ่มคนทำงาน หรือ 25 ขยับเป็น 55 ปี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น หากไม่ปรับตัวแน่นอนว่าคนอื่นจะมาแทนที่เรา! คอนเซปต์ธุรกิจมาสู่นิยามใหม่ “เพื่อนที่รู้ใจใกล้ๆ คุณ” สร้างความรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ! เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น บิ๊กเพลย์เยอร์ในตลาดค้าปลีก “เทสโก้ โลตัส” โดดสู่สมรภูมิร้านเล็กเช่นเดียวกับ “บิ๊กซี” ดังนั้น จากความเป็นร้านสะดวกซื้อ ของเซเว่นอีเลฟเว่น สร้างจุดขายใหม่ “ร้านอิ่มสะดวก” ด้วยการบริการจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน พร้อมเปลี่ยนสโลแกนเป็น “หิวเมื่อไหร่...ก็แวะมาเซเว่นอีเลฟเว่น”
แรงกระเพื่อมจากดิสรัปต่างๆ ความเป็น “Food Store” ของเซเว่นอีเลฟเว่น ถูกเปลี่ยนสู่ “All Convenience” ที่ไม่ใช่แค่สะดวกเฉพาะการซื้อสินค้า แต่สะดวกทุกอย่าง! พร้อมๆ กับ “เทคโนโลยี” เปลี่ยนวิถีชีวิตคนอย่างชัดเจนมีความคุ้นชินในการช้อปออนไลน์มากขึ้นสอดรับการก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเต็มตัวของเซเว่นอีเลฟเว่น และสโลแกนล่าสุด ALL Online
อาณาจักรเซเว่นอีเลฟเว่น 12,000 สาขา มีลูกค้าเฉลี่ยวันละ 1,200 คนต่อร้าน หรือ 14 ล้านคนต่อวัน มีฐานลูกค้าทั้งหมด 40 ล้านคน และ 45 ล้านบัญชีออนไลน์ เป็น “บิ๊กดาต้า” ที่นำมาประมวลผลเพื่อปรับกลยุทธ์-ต่อยอดธุรกิจ แม้กระทั่งการสื่อสารต้อง “พูดในสิ่งที่คนอยากฟัง” สร้างการเข้าถึง และ “เอนเก็จเมนท์” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สร้างยอดขายนำสู่รายได้ที่เปี่ยมประสิทธิภาพ!
ซึ่งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทย่อยสร้างกำไรสุทธิ 2,887 ล้านบาท มีรายได้รวม 128,027 ล้านบาท
จับตาเกมรุก ALL Online ที่มาพร้อมกับพลังแห่งเครือข่ายกว่า 12,000 สาขา ที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เขย่าวงการออฟไลน์และออนไลน์ไม่น้อย!