2 รมต. เปิดศึกปมแบนสารเคมี 'เฉลิมชัย' ชงเลิก - 'มนัญญา' ค้าน
กระทรวงเกษตร เดือด! 2 รมต. เปิดศึก “เฉลิมชัย” ชงนายกฯ ทบทวนมติเลิกแบนพาราควอต เผยรับฟังข้อมูลเกษตรกรเดือดร้อนไร้สารทดแทน ด้าน “มนัญญา” โต้กลับคุณไม่จบฉันไม่จบ
รายงานข่าวจากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนมติการยกเลิกการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอส อีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2563 ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเลขที่ กษ.0100 เพื่อนำเสนอข้อมูลชุดใหม่ นำไปสู่การทบทวนการแบน 2 สาร ดังกล่าวต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนสิ้นสุดวันผ่อนผันคือ 29 ส.ค.
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) กลุ่มที่เสนอให้แบนสารเคมี ได้เข้าพบ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการตามมติ คือ เกษตรกรต้องไม่ใช้ ไม่ถือครองสารเคมีดังกล่าว หลังวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา หากไม่สามารถทำตามกฎที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดเรื่องการใช้สารดังกล่าวได้ ส่งผลให้นายเฉลิมชัย ต้องดึงหนังสือฉบับนี้กลับ
แต่ในวันที่ 28 ส.ค.นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เป็นตัวแทนเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหญ้า เข้าพบนายเฉลิมชัย เพื่อให้ทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการแบน พาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอส
โดยให้เหตุผลว่า ตั้งแต่มีการแบน 3 เดือน ได้ทดลองใช้สารทดแทน ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ฆ่าหญ้าแทน คือ กลูโฟซิเนต ปรากฏผลการใช้ในแปลงทดลองไม่ได้ผล เกษตรกรกำลังเดือดร้อน เพราะหญ้าไม่ตาย แต่พืชประธาน คือ อ้อย มันสำปะหลังตายเกลี้ยง
นายเฉลิมชัย กล่าวระหว่างการหารือกับเกษตรกรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังดึงหนังสือฉบับ กษ.0100 คืน โดยจะแนบไปพร้อมข้อเสนอของเกษตรกรที่เรียกร้องถึงความเดือดร้อน ให้ทบทวนการแบนสารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอส รวมทั้งขอให้จัดทำหนังสือถึงคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิ.ย. 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย
ด้านนายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ไทยส่งออกข้าวโพดหวานมามากกว่า 20 ปี ถือว่าส่งออกอันดับ 1 ของโลกมูลค่าส่งออกมากกว่า 7,000 ล้านบาท ในแต่ละปีไม่เคยมีการพบพาราควอตตกค้าง คู่ค้าไม่เคยตีกลับข้าวโพดที่นำเข้าจากไทยแม่แต่ฝักเดียว ซึ่งไทยปลูกข้าวโพดหวาน 5 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7 ล้านไร่ เกษตรกรกลุ่มนี้ยังต้องการสารพาราควอต หากใช้ตามคำแนะนำ ถือว่าไม่อันตราย
ขณะที่น.ส.นมัญญาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวโดยมีเนื้อหาว่า คุณไม่หยุดฉันก็ไม่หยุด!!ตราบใดที่ยังเห็นผู้บริโภคมีอันตรายอยู่เราก็ไม่หยุดจะเอาสารพิษอันตรายกลับมาเพื่ออะไรคะ
ทั้งมีข้อความหนึ่งที่ น.ส.มนัญญาตอบกลับด้วยตนเอง ถึงข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะมีปัญหาเรื่องตัวบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นควรแก้ไขการคัดกรองบุคคลเข้าเป็นกรรมการว่า “ ดีคะ ขอบคุณคะ”