รายงานสรุปคดี 'บอส อยู่วิทยา' ถึงมือนายกฯ พรุ่งนี้!
"วิชา" เตรียมยื่นรายงานสรุปคดี "บอส อยู่วิทยา" ถึงมือนายกฯ วันพรุ่งนี้! ระบุมีหลักฐานเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทันที และมีที่ต้องสอบสวนต่อด้วย
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.63 นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ "บอส อยู่วิทยา" ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตปี 2555 เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการว่า เบื้องต้นยังไม่ได้นัดหมายกับนายกรัฐมนตรี แต่จะยื่นรายงานสรุปในวันที่ 31 สิงหาคมแน่นอน โดยคณะกรรมการได้รับการขยายเวลาต่อไปอีก 30 วัน เพื่อทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียด
สำหรับรายงานที่จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรี นายวิชา กล่าวว่า จะเป็นการสรุปรายละเอียดทั้งการสอบพยาน ข้อมูลที่ได้ ไทม์ไลน์ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่เกิดเรื่องจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ต้องหา รวมไปถึงการทำสำนวนสอบสวน มาจนกระทั่งเกิดข้อสงสัยเรื่องการสั่งฟ้อง และคดีขาดอายุความ ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้ว แม้ผ่านเวลามาแล้ว แต่ก็มีเอกสารที่ยืนยันในบางเรื่อง ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากที่เคยสอบกันมาแล้ว เพราะได้ความจริงว่าบางเหตุการณ์ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ได้ทำขึ้นเลยในวันนั้น
นายวิชา กล่าวว่า กระบวนการทำรายงาน ได้เห็นข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งการเอาผู้เสียชีวิตเป็นผู้ต้องหาด้วย ทั้งๆ ที่ตายไปแล้วและไม่มีสิทธิ์ต่อสู้คดี ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นกระบวนการตั้งรูปคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยสอบแล้วว่า มีข้อสงสัย มีพิรุธ ซึ่งคณะกรรมการก็ยึดตามแนวทางที่เป็นข้อยุติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนหนึ่ง และสอบเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง
"แต่พบว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ร่วมมือกันหลายฝ่าย มั่นใจว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากพนักงานสอบสวนคนเดียว หรือพนักงานอัยการคนเดียว พร้อมย้ำว่ากระบวนการของอัยการและตำรวจไม่ใช่เรื่องที่ว่าองค์กรไม่ดี แต่องค์กรต้องกระทบกระเทือนอย่างหนักจากผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ หรือไม่ทำหน้าที่ในลักษณะของผู้นำ หรือผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ผิดพลาดบกพร่อง ซึ่งจะมีการแสดงรายละเอียดเรื่องนี้ แต่คงจะบอกแบบยืนยันเป็นชื่อหรือตัวบุคคลตอนนี้ยังไม่ได้ เพราะยังไม่ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี" นายวิชา กล่าว
ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการคือ ต้องรื้อคดีนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาบอกไว้แล้วว่า หากทำสำนวนหรือทำคดีที่มีการสมยอมกัน ไม่สุจริต มันจะเสียไปหมดทั้งระบบที่ทำสำนวน ซึ่งถือเป็นหลักใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ว่าจะให้เริ่มต้นใหม่ เพื่อความยุติธรรม แต่ก็คงจะได้เฉพาะบางข้อกล่าวหาที่ยังไม่ขาดอายุความ หรือยังไม่เคยตรวจสอบ หรือยังไม่จัดการให้ชัดเจนในกระบวนการเหล่านั้น
"ซึ่งบางประเด็นตำรวจก็พยายามแก้ไขโดยใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 แต่จริงๆ แล้วมันต้องยิ่งกว่านั้น แต่สรุปโดยย่อคือ กระบวนการที่นำเสนอก็มีทั้งเรื่องทางอาญา ทางวินัย และจะมีส่วนที่เกี่ยวกับจริยธรรม ครบทั้ง 3 ด้าน" นายวิชา กล่าว
ส่วนข้อเสนอการรื้อคดีและดำเนินการเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายวิชา กล่าวว่า ต้องแยกไปให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. , ป.ป.ท. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ , กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI จนไปถึงองค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ต้องปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร
ส่วนจำนวนบุคคลที่ทำผิดพลาดในกระบวนการเกิดขึ้น นายวิชา กล่าวว่า เป็นกานระบุว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องในจุดใด และส่งสำนวนให้ใครดำเนินการ ซึ่งมีทั้งดำเนินการเอาผิดได้ทันที และกรณีที่ต้องขยายผลในการสอบสวนต่อ เพราะคณะกรรมการมีเวลาจำกัด ไม่สามารถสอบครบถ้วนได้ทุกปาก แต่มีทั้งบุคคลธรรมดาและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆในกระบวนการ