กองทัพเรือ ทิ้งงบซื้อเรือดำน้ำ 3.9 พันล้าน
บิ๊กทหารเรือทำใจ ทิ้งงบซื้อเรือดำน้ำ 3.9 พันล้าน มติ 63 กมธ. ชะลอจัดซื้อ 1 ปี โยนสำนักงบฯ โยกวงเงิน - นายกฯย้้ำจำเป็น ชี้ปัดฝุ่นแผนจัดซื้อปีหน้าได้
กองทัพเรือถอยจัดซื้อเรือดำน้ำ ยอมทิ้งงบ 3.9 พันล้านเกลี้ยง มติ กมธ.งบฯ “63 เสียง” ให้ชะลอ 1 ปี โยนสำนักงบประมาณฯ ถกโยกวงเงิน ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ย้ำความจำเป็น พร้อมปัดฝุ่นแผนจัดซื้อปีหน้าได้ ขณะที่ “กลาโหม”ย้ำงบผูกพัน วอนการเมืองหยุดบิดเบือน
หลังจากความพยายามขวางงบประมาณโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ(ทร.) 2 ลำ วงเงิน 2.25 หมื่นล้านบาท ของฝ่ายค้านในคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมถึงการใช้งบฯ จัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน ล่าสุดกองทัพเรือของไทยได้ประสานไปยังทางการจีน เพื่อร่วมหาทางออก จนกระทั่งได้รับการตอบรับในการเลื่อนการจัดซื้อออกไป 1 ปี
วานนี้ (31 ส.ค.) ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้มีการพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนที่มีนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ซึ่งให้ความเห็นชอบการจัดซื้อดังกล่าว โดยนายสุพล กล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะอนุ กมธ.ฯได้ประชุมและปรับลดงบประมาณ 4,521 ล้านบาท จำแนกเป็น ปรับลดในแผนงานพื้นฐาน 567 ล้านบาท ปรับลดในแผนยุทธศาสตร์ 3,954 ล้านบาท
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ.งบฯ 64 กล่าวต่อที่ประชุมว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญ กมธ.แต่ละพรรคไปหารือถึงความเหมาะสม เกี่ยวกับเรือดำน้ำ ซึ่งจากการสอบถามได้มีข้อสรุปเห็นตรงกันว่า การมีเรือดำน้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจำนวน 3 ลำน้อยเกินไปด้วยซ้ำ เนื่องจากประเทศไทยมีทะเลถึงสองฝั่ง และพื้นที่ชายฝั่งทะเล 12 ไมล์ทะเล ยังมีพื้นที่ทับซ้อนด้านความมั่นคงที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน
ทั้งนี้เรื่องเรือดำน้ำได้ผ่านออกมาเป็นงบประมาณตั้งแต่งบประมาณ 2563 แต่ด้วยความปรารถนาดีและเห็นแก่เศรษฐกิจของประเทศ กองทัพเรือได้ส่งงบประมาณคืนเพื่อให้รัฐบาลไปแก้ปัญหาโควิด ซึ่งต้องขอบคุณกองทัพเรือด้วยและจะมีการดำเนินการคืนงบประมาณให้ในปีงบประมาณ 2564 ต่อไป
แต่เมื่อมาถึงการพิจารณางบประมาณปี 2564 ปรากฎว่าการแพร่ระบาดของโควิดยังไม่ได้คลี่คลาย ดังนั้น กมธ.เห็นว่า แม้เรือดำน้ำจะมีความจำเป็น แต่ยังไม่เหมาะในเวลานี้ เพราะโควิดอาจเกิดการระบาดรอบสองได้
ทร.ชงตัดงบ3.9พันล้านเกลี้ยง
“ทางกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือได้แจ้งมายัง กมธ.ว่า ในปี 2564 กองทัพเรือยินดีให้ปรับงบประมาณจำนวน 3,925 ล้านบาทในส่วนที่จะต้องไปจ่าย ออกไปก่อนให้เป็นศูนย์ และให้กองทัพเรือไปใช้งบประมาณในปีถัดไปตามเห็นสมควร และให้กองทัพเรือไปเจรจากับทางผู้ผลิตว่า จะสามารถดำเนินการอย่างไร ในการทำให้ประเทศไทยมีเรือดำน้ำตามความประสงค์ ปีนี้เลื่อนงบประมาณงวดแรกในการจ่ายเรือดำน้ำออกไป กองทัพเรือได้มีหนังสือแล้ว ส่วนเงินที่ปรับออกไปนั้น คงเป็นหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณ และสำนักงบประมาณจะไปพิจารณา” นายสันติ กล่าว
ต่อมา นายสันติ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอใช้สิทธิในฐานะ กมธ.เพื่อเสนอญัตติให้ปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ตามที่กองทัพเรือได้ทำมาเป็นหนังสือแจ้ง
โยนสำนักงบฯพิจารณาโยกเงิน
นายสันติ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขอบคุณทางรัฐบาลและกองทัพเรือที่ให้ความสนใจห่วงใยต่อการจัดซื้อดังกล่าว ส่วนของงบประมาณการซื้อเรือดำน้ำงวดแรก อยู่ที่สำนักงบประมาณว่าจะนำไปใช้ในส่วนใด การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 ด้านสาธารณสุข หรือสนับสนุนการผลิตวัคซีนป้องกันหรือไม่คงต้องนำมาพูดคุยกันก่อน
กมธ.ซีกฝ่ายค้านไล่บี้ล้มแผน
อย่างไรก็ตาม กมธ.ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ทั้ง นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้แย้งในที่ประชุมว่า กมธ.ในส่วนพรรคก้าวไกลไม่ได้คุยกับนายสันติ ตามที่มีการกล่าวอ้าง และพรรคก้าวไกลยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ และการเลื่อนออกไปเพียงหนึ่งปีงบประมาณนั้นไม่น่าจะเป็นประโยชน์
โดยนายพิจารณ์ ได้สอบถามต่อที่ประชุม และตัวแทนสำนักงบประมาณว่า ปีงบประมาณ 2565 จะมีการพิจารณางบประมาณในส่วนเรือดำน้ำใหม่หรือไม่อย่างไร หรืองบประมาณส่วนนี้จะตกไป และกองทัพเรือต้องตั้งงบประมาณเข้ามาใหม่หรือไม่ และแนวทางของ กมธ.วิสามัญกฎหมายงบประมาณในปีหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ด้านตัวแทนสำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า รายการเรือดำน้ำที่มีการอนุมัติตั้งแต่ปี 2563 ส่วนการดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 จะต้องรอความชัดเจนจากกองทัพเรือว่า ได้มีการเจรจากับทางผู้ผลิตอย่างไรก่อน
จากนั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.และรองประธานคณะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ ได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า ก่อนจะลงมติควรให้คณะอนุ กมธ.ได้กล่าวรายงานเรื่องดำน้ำต่อที่ประชุมก่อนว่ามีรายละเอียดในเรื่องเรือดำน้ำอย่างไรบ้าง
ตัดบทโหวต-“63กมธ.”ชะลอ1ปี
แต่ปรากฎว่านายวราเทพ รัตนากร รองประธาน กมธ.งบฯ โต้แย้งว่า เมื่อประธาน กมธ.งบฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติแล้ว จะต้องไปสู่ขั้นตอนของการลงมติ ส่วนเรื่องรายละเอียดของของคณะอนุ กมธ.นั้นที่ประชุมดูได้จากเอกสารอยู่แล้ว หากนายยุทธพงศ์จะขออภิปราย ก็ทำได้เฉพาะกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำเท่านั้น ทำให้นายยุทธพงศ์ ยุติการขออภิปราย
จากนั้นที่ประชุม มีมติเอกฉันท์ 63 เสียง เห็นด้วยกับการปรับลดงบประมาณตามที่นายสันติ ประธานกมธ.งบฯ 64 เสนอ
นายกฯชี้ปัดฝุ่นแผนจัดซื้อปีหน้า
วันเดียวกันที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสามารถเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำต่อได้ เพียงแต่ขณะนี้ชะลอการจ่ายเงินไปปีหน้า เพราะเป็นแผนการพัฒนาของกองทัพ และที่สำคัญเรามีหลักการ และเหตุผลที่ได้ชี้แจงไปแล้ว เนื่องจากเป็นแผนงานการพัฒนาทางเรือ และต้องไปดูว่าขณะนี้สถานการณ์รอบประเทศเป็นอย่างไร
ถึงแม้ว่าจะมองดูเหมือนว่าไกล แต่ก็ไม่ไกลมากนัก และเราก็มีการฝึกร่วมมาโดยตลอด หลายปีมาแล้วเรื่องเรือดำน้ำ แต่เราก็ไม่เคยมีเรือดำน้ำที่จะฝึกร่วมกับเขาเลย เรื่องนี้ได้คุยกับ ผบ.ทร.แล้ว ได้ให้แนวทางไปว่า ให้ไปคุยเจรจากับจีน ส่วนงบฯกว่า 3,000 ล้านบาท ก็ไม่สามารถโยกไปทำอะไรได้ ก็ต้องตีตกกลับมา และเงินตัวนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังอยู่แล้ว ว่าจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการชะลอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 โดยยืนยันรัฐบาลจะดูแลทุกภาคส่วน เพื่อให้ทั้งหมดดำเนินการสอดคล้องกัน ส่วนข้อสังเกตว่าสัญญาไม่เป็นจีทูจีนั้น ยืนยันว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นจีทูจีถูกต้อง ดำเนินการมาตั้งแต่การจัดซื้อลำแรกแล้ว และเป็นผลต่อเนื่อง
โฆษกกลาโหมวอนหยุดบิดเบือน
เช่นเดียวกับ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า การจัดซื้อดังกล่าว เป็นโครงการภายใต้วงเงินของกองทัพเรือ ผูกพันงบข้ามปี 2563 ซึ่งผ่านสภาฯ และได้บรรจุในพ.ร.บ.งบ 2563 แล้ว ไม่ใช่โครงการผูกพันงบปี 2564 ไม่อยากให้มีการบิดเบือนเพราะส่วนนี้เป็นงบของกองทัพเรือเอง ไม่ได้รับการจัดสรรให้มากขึ้น ในภาพรวมกองทัพได้งบทั้งหมด 6.77% ของงบประมาณทั้งหมด
หลังมีข้องกังวลขณะนี้กองทัพเรือยอมสละงบในส่วนนี้ ในรอบแรก 3,375 ล้านบาท และปีนี้ก็ยอมเสียสละอีก 3,925 ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด โดยในที่ประชุม รมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพให้ความสำคัญงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น